หลายประเทศอาจแยกจากอียูเลียนแบบอังกฤษ
อังกฤษอาจไม่ใช่ประเทศเดียวที่ครุ่นคิดเรื่องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ที่จริงแล้วการประชันวิสัยทัศน์อย่างดุเดือดเรื่องการโหวตออกจากอียูหรือ ‘เบร็กซิท’ ที่จะมีขึ้นในเดือน มิ.ย.จุดประกายความหวังให้กับเหล่าผู้ลังเลสงสัยในหลายประเทศทั่วยุโรป
ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้เชื่อว่า เดนมาร์กสาธารณรัฐเช็กและโปแลนด์อาจจะมีการทำประชามติในเรื่องนี้เช่นกันถ้าอังกฤษโหวตที่จะออกจากอียู
นายอันโตนิโอ บาร์โรโซรองประธานอาวุโส ที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเมืองของ สถาบันเทเนโออินเทลลิเจนซ์ กล่าวในรายงานสัปดาห์นี้ว่า “เรื่องน่ากังวลคือการออกจากอียูของสหราชอาณาจักรอย่างคาดไม่ถึงอาจจุดประเด็นนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศสมาชิกอื่นๆของอียู กลายเป็นว่าเบร็กซิทอาจเป็นก้าวแรกของการล่มสลายของอียูในอนาคต”
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจล่าสุดในอังกฤษมีประชาชนให้การสนับสนุนการออกจากสหภาพยุโรปประมาณ 40% เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา นายแองเจล กูร์เรีย เลขาธิการขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เตือนถึงความเสี่ยงของประเทศสมาชิกอียูประเทศอื่นๆที่อาจจะทำตามอังกฤษในการทำประชามติและโหวตแยกตัวออกจากอียู
เขาให้สัมภาษณ์สื่อว่า“เบร็กซิท อาจคุกคามทั้งความเป็นเอกภาพของสหราชอาณาจักร (เพราะมีความเป็นไปได้ที่สก็อตแลนด์จะทำประชามติและขอแยกตัวออกไป) และความเป็นเอกภาพของสหภาพยุโรป”
ทางสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ได้ประเมินท่าทีของประเทศอื่นๆ ที่อาจมีการทำประชามติหลังจากการตื่นรู้ของ เบร็กซิท
เดนมาร์ก เป็นประเทศที่มีประวัติยาวนานของผู้ที่มีความลังเลสงสัยในสหภาพยุโรปคล้ายอังกฤษ โดยได้มีการโหวตคัดค้านการทำประชามติที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอียูในปี 2543
สาธารณรัฐเช็กมีพรรคคอมมิวนิสต์โบฮีเมียและโมราเวียซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศให้การสนับสนุนความคิดนี้ นอกจากนี้ อดีตประธานาธิบดีวาคลาฟ คลาวส์ ยังได้แนะนำผ่านสื่อว่า นี่เป็นเวลาที่ประเทศควรแยกตัวออกจากอียู
ประเทศอื่นๆยังมีอีกหลายประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะปฏิบัติตามอังกฤษ โดย นายบาร์โรโซ ชี้ว่าออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ โปแลนด์ ฮังการีและสวีเดนล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงทั้งสิ้นเขาเน้นว่าโปแลนด์และฮังการีเป็น 2 ประเทศที่มีประชาชนหัวรุนแรงด้านสิทธิและเสรีภาพค่อนข้างมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดการทำประชามติในเรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ตามการทำประชามติในเรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนในประเทศแกนนำผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรป เช่น เยอรมนีและฝรั่งเศส