“ธนกร” โต้ “ทวี สอดส่อง” ปมเยียวยา “5 พัน”
“โฆษก พปชร. – เลขาฯรมว.คลัง” ตอบทุกข้อข้องใจในมาตรการเยียวยา “5 พันบาท” ของ “ทวี สอดส่อง” ทั้ง “ปม BIG DATA – ความไม่เป็นธรรม – ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
มาตรการเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง เปิดให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ได้ลงทะเบียนผ่าน เว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” กลายเป็นประเด็นร้อนของสังคมไทย โดยเฉพาะวิธีการคัดกรอง ที่รัฐบาลนำเอา “ปัญญาประดิษฐ์” (AI) มาใช้กับคนจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน เพื่อแยก…กลุ่มที่ผ่านเกณฑ์ (สีเขียว) และที่ไม่ผ่านเกณฑ์ (สีแดง) รวมถึงกลุ่มที่ยังระบุไม่ได้ (สีเทา)
หนึ่งในคำถามที่ทำเอาสังคมไทยต้องหันมามอง ก็คือ คำถามจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ พรรคประชาชาติ ที่ว่า… “ทำไมต้องใช้ AI ทั้งที่รัฐบาลลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท สร้างการเชื่อมโยงข้อมูลประชาชนเป็นภาพเดียวที่สมบูรณ์ หรือที่เรียกว่า Big Data” รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ
และเป็น “โฆษกพรรคพลังประชารัฐ” ที่มีดีกรีเป็นถึง “เลขานุการ รมว.คลัง” อย่าง…นายธนกร วังบุญคงชนะ ที่ขันอาสามาตอบประเด็นคำถามเหล่านี้
นายธนกร ตอบคำถามของ พ.ต.อ.ทวี ที่ว่า…ทำไมต้องให้มีการลงทะเบียน ในเมื่อรัฐมีการลงทุนมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท ในการเชื่อมโยงข้อมูลประชาชนเป็นภาพเดียวที่สมบูรณ์ Big Data อยู่ที่ไหน ทำไมไม่นำมาใช้ประโยชน์ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ AI ให้สิ้นเปลืองงบประมาณและเสียเวลาในการตรวจสอบ?
นั่นเพราะ…ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดจัดทำและเชื่อมโยงฐานข้อมูลอาชีพอิสระของประชาชนอย่างเป็นระบบ ดังนั้น การดำเนินมาตรการนี้จึงต้องเชื่อมโยงฐานข้อมูลอาชีพอิสระจากหน่วยงานต่างๆ ขึ้นมาก่อน เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินมาตรการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น :
– “Big Data” ของแต่ละหน่วยงานมีอยู่แล้วตามภารกิจและนโยบายของแต่ละกระทรวง เช่น นโยบายในการต่อสู้ความยากจน กระทรวงการคลังก็มี Big Data ผู้มีรายได้น้อย แต่ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 เรามุ่งเน้นการช่วยเหลือไปยังกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระนั้น ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานไหนมีการจัดเก็บข้อมูลนี้อย่างเป็นระบบ
– เชื่อมโยงกันได้ด้วย “เลขบัตรประชาชน 13 หลัก” การดำเนินมาตรการนี้ เราก็ใช้การเชื่อมโยงข้อมูลหลายฐานข้อมูลที่เก็บอยู่ในแต่ละหน่วยงาน เช่น ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง ฐานข้อมูลผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคม ฐานข้อมูลข้าราชการของกรมบัญชีกลาง ฐานข้อมูลเกษตรกรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสำนักงานอ้อยและน้ำตาล ฐานข้อมูลนักเรียนนักศึกษาจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการ ฐานข้อมูลใบอนุญาตขับขี่สาธารณะของกรมการขนส่งทางบก ฐานข้อมูลผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น
– หัวใจสำคัญของการคัดกรองผู้ลงทะเบียนโดยใช้ข้อมูลส่วนบุคคล คือ การลงลายมือชื่อรับรองและยินยอมให้มีการตรวจสอบข้อมูลของตัวเอง (Consent) “ไม่ได้สร้างความเดือดร้อน แต่สร้างความถูกต้อง” ภาครัฐไม่สามารถตรวจสอบได้เองตามอำเภอใจ แม้ข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ จะอยู่กับภาครัฐแล้วก็ตาม เพราะมีกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลดูแลอยู่
ทำไมปล่อยให้มีการลงทะเบียนกว่า 24 ล้านคน และรัฐกำหนดโควตาในรอบแรกเพียง 3 ล้านคน ทำให้มีผู้ที่ไม่ได้ลงและผู้ที่ไม่ได้สิทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม ในขณะนี้ไม่มีคนไทยคนใดไม่ได้รับผลกระทบ ควรให้ทุกครอบครัว ครอบครัวละ 5,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้ประชาชนดำรงชีพได้ 3 – 6 เดือน?
ประเด็นนี้ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า การใช้จ่ายเงินต้องมีประสิทธิภาพ การใช้จ่ายแบบเฮลิคอปเตอร์มันนี่เป็นการใช้งบประมาณแบบ “เกาไม่ถูกที่คัน” ในยามวิกฤตนี้เราต้องใช้งบประมาณที่มี “จำกัด” เยียวยาคนที่ “จำเป็น” ก่อน ซึ่งงบประมาณที่ใช้ทั้งหมดเป็นเงินกู้ ย่อมเป็นภาระทางการคลังในอนาคต :
– เดิมมาตรการนี้ มุ่งช่วยเหลือเฉพาะ “กลุ่มอาชีพอิสระที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม” เช่น หาบเร่แผงลอย รถจักรยานยนต์รับจ้าง แท็กซี่ เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 ล้านคน แต่เมื่อผลกระทบของ COVID-19 ขยายวงออกไป กระทรวงการคลังจึงไม่ได้จำกัดผู้ที่ลงทะเบียนไว้ที่ 3 ล้านคน หากแต่เปิดโอกาสให้กับทุกคนที่คิดว่าตนเองได้รับผลกระทบ และจะเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก่อน ไม่ใช่ใครก็ได้มาลงทะเบียนแล้วรับเงินไป แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ผ่านการคัดกรองแล้วว่าได้รับผลกระทบจริง รัฐบาลจะพยายามช่วยเหลือทุกคน ส่วนผู้ที่เป็นเกษตรกร รัฐบาลไม่ได้ทิ้ง แต่ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้แล้ว
– จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ประเทศไทยมี 22 ล้านครัวเรือน ถ้าให้ครัวเรือนละ 5,000 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3.3 แสนล้านบาท ถ้าเป็นระยะเวลา 6 เดือน ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 6.6 แสนล้านบาท ผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบจะได้รับเงินเยียวยาไปด้วย แทนที่จะนำเงินไปใช้ในด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นตาม “หลักเศรษฐศาสตร์” นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่ได้มีฐานะทางการเงินดีเหมือนฮ่องกงและมาเลเซียเหมือนที่ผู้วิจารณ์ยกตัวอย่าง การดำเนินมาตรการนี้จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการกู้เงิน และแน่นอนว่าจะเป็นภาระทางการคลังในอนาคต
การให้ประชาชนมาลงทะเบียน เพื่อให้ประชาชนเสียสิทธิ์ก่อน รัฐถึงจะให้สิทธิ์นั้น จึงเป็นการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บทเรียนในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ที่ประสบความสำเร็จ คือ “สวัสดิการ” เป็น “สิทธิ” ของประชาชน รัฐต้องให้ “สิทธิที่เสมอกัน” ไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไร?
นายธรกร ชี้แจงว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และผลกระทบจาก COVID-19 เป็นคนละเรื่องกันไม่สามารถใช้ตรรกะการวัดแบบเดียวกันได้ ส่วนเงินเยียวยาเป็นเงินที่ให้เฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้ให้เป็นสวัสดิการถาวรที่ให้แก่ทุกคน :
– การให้ประชาชนเสียสิทธิก่อนจึงจะให้สิทธิ เป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้อง เพราะการลงทะเบียนจำเป็นต้อง “คัดกรองผู้ที่ได้รับผลกระทบให้แม่นยำมากที่สุด” ภายใต้ฐานข้อมูลต่างๆ ที่เรามี เช่น แม่ค้าและข้าราชการ ย่อมมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่ากันตามกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 2 กลุ่ม จะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เท่ากัน
– การแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว สามารถใช้นโยบายสวัสดิการเพื่อบรรเทาปัญหาได้ ซึ่งต้องคำนึงถึงความเสมอภาคเป็นสำคัญ แต่ปัญหาวิกฤต COVID-19 ในปัจจุบันมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นเรื่อง “เร่งด่วนและส่งผลกระทบโดยตรงกับบางกลุ่มอาชีพเท่านั้น” ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน จึงไม่ควรเอามาปนกัน
“ผมหวังว่าพ.ต.อ.ทวีจะเข้าใจนะครับ ท่านเป็นข้าราชการเก่าน่าจะเข้าใจระบบการบริหารดี เวลานี้ทุกฝ่ายต้องร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้กับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่เวลาเอาชนะคะคานกันทางการเมืองได้โปรดเข้าใจด้วยครับ” เลขานุการ รมว.คลัง สรุป.