ทีเอ็มฟอรั่มและหัวเว่ย เทคโนโลยีเผยเทรนด์ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นในภาคโทรคมนาคม
ทีเอ็มฟอรั่มและหัวเว่ย เทคโนโลยี่ เผยเทรนด์ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นในภาคโทรคมนาคม แนะผู้ให้บริการเครือข่ายควรปรับตัวหากต้องการได้ประโยชน์สูงสุด จากการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล
(กรุงเทพฯ, 8 เมษายน 2563) – เมื่อเร็วๆ นี้ ทีเอ็มฟอรั่ม (TM Forum) และหัวเว่ยเทคโนโลยี่ได้จัดงานสัมมนาผ่านทางออนไลน์โดยถ่ายทอดสดทั่วโลก ในหัวข้อ“เผยรายงานสมุดปกขาว – ปลดปล่อยพลังของดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น” เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของกระบวนการดำเนินธุรกิจในสองเรื่องโดยอิงจากโมเดล eTOM ของผู้ให้บริการเครือข่าย เพื่อรองรับเทรนด์ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น ได้แก่ เรื่อง SIP (กลยุทธ์, โครงสร้างพื้นฐาน และผลิตภัณฑ์) และเรื่องกระบวนการดำเนินงาน OPS (ดึงดูดผู้ใช้รายใหม่และการสร้างรายได้)
ในงานสัมมนาครั้งนี้ นายมาร์ค นิวแมน (Mark Newman) หัวหน้าทีมวิเคราะห์จากทีเอ็มฟอรั่มซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือปกขาวเรื่องทรานสฟอร์เมชั่นและผู้ดำเนินงานสัมมนา พร้อมด้วยนายเจมส์ ครอว์ชอว์ (James Crawshaw) นักวิเคราะห์อาวุโสจากออมเดีย (Omdia) นายอารอน บอสแมน พาเทล (Aaron Boasman-Patel) รองประธานด้านปัญญาประดิษฐ์และประสบการณ์ใช้งานของลูกค้าจากทีเอ็มฟอรั่ม และนายแดนนี่ แยป ก๊ก ฮอ (Danny Yap Kok Ho) หัวหน้าทีมสถาปนิกด้านโซลูชันจากหัวเว่ย เทคโนโลยี่ ร่วมพูดคุยในประเด็นที่น่าสนใจจากหนังสือปกขาว รวมถึงวิสัยทัศน์จากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในด้านดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น
ทั้งนี้ พวกเขามองว่าผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมส่วนใหญ่รับรู้ถึงประโยชน์ของเทรนด์ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่นอยู่แล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการปรับกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผู้ให้บริการเครือข่ายยังคงให้ความสำคัญกับการปรับฟังก์ชั่นต่างๆ ที่สนับสนุนระบบดิจิทัลและการบริหารจัดการในองค์กรเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตาม อัตราการแข่งขันที่สูงขึ้นและสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทายยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องหันมาเร่งกระบวนการปรับตัวสู่ความเป็นดิจิทัลในสองด้านหลัก อันเป็นหัวใจสำคัญแก่การสร้างมูลค่าธุรกิจ ได้แก่ ด้าน SIP (กลยุทธ์, โครงสร้างพื้นฐาน และผลิตภัณฑ์) และด้าน OPS (ดึงดูดผู้ใช้รายใหม่และการสร้างรายได้ ในการเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร)
วัฒนธรรมองค์กร การขาดการประสานงานให้ไปในทิศทางเดียวกันระหว่างเครือข่ายและสายธุรกิจ รวมถึงการขาดความสามารถในการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่างส่งผลให้เกิดการชะลอตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัล อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงควรเปิดรับวัฒนธรรมการทำงานที่เปิดกว้างและทำงานอย่างประสานกัน รวมถึงเร่งลงทุนในด้านระบบอัตโนมัติและการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล โดยผ่านการปรับเปลี่ยนกระบวนการ SIP และ OPS จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับการประสานงานและการทำงานร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวให้แก่กลยุทธ์ ธุรกิจ และเครือข่ายของผู้ให้บริการ นอกจากนี้ สายป่านธุรกิจทั้งสายจะต้องมีอีโคซิสเต็มที่เชื่อมต่อกันระหว่างผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ (vendor) ผู้รับเหมารายย่อย (sub-contractor) และช่องทาง (channel) ต่างๆ รวมอยู่ด้วย อันจะส่งผลให้เกิดโมเดลอีโคซิสเต็มความร่วมมือแบบใหม่ที่ทั้งเปิดกว้างและสามารถทำงานร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคมและผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ก็จะเปลี่ยนไปและมีความคล่องตัวสูงขึ้น
เพื่อเป็นการค้นหาคำตอบว่าผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมส่วนใหญ่อยู่ในสถานะใดบนเส้นทางสู่ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น ทางทีมงานจึงได้ทำการสำรวจผู้ให้บริการโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีเพียงแค่ 36% จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเท่านั้น ที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานประสานกันอย่างแข็งแกร่งระหว่างกระบวนการทำงานของ SIP และ OPS โดยมีเพียง 29% เท่านั้นที่ตอบว่าสามารถใช้ประโยชน์และการทำงานโดยอิงจากข้อมูลระดับพื้นฐานที่มีผลต่อการตัดสินใจทางธุรกิจในแต่ละวัน สิ่งที่น่าสนใจคือ OPS ยังมีบทบาทค่อนข้างจำกัด (36%) ต่อการวางแผนกลยุทธ์และการพัฒนาช่องทางรายได้ หากเทียบกับ SIP (57%) ผลสำรวจเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่าโมเดลการปฏิบัติงานของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมยังขาดความเท่าเทียมกัน เพราะ SIP ยังเป็นตัวผลักดันหลักในด้านการจัดลำดับความสำคัญของธุรกิจและการจัดสรรงบประมาณ โดยไม่ได้อิงกับด้าน OPS เลย ซึ่งผลลัพธ์สำคัญที่ต้องทำให้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัลก็คือการประสานกระบวนการปฏิบัติงานทางธุรกิจระหว่าง SIP และ OPS ให้ไปในทิศทางเดียวกันให้ได้
โดยสรุปแล้ว ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมจะต้องดำเนินการสำคัญในสามเรื่องเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุดจากพลังของดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น เรื่องแรกคือต้องพัฒนาแผนการใช้ข้อมูลในระยะยาวซึ่งได้รับการผลักดันด้วยแพลตฟอร์มข้อมูลที่สามารถมองเห็นภาพแบบเป็นองก์รวม เพื่อนำไปยกระดับส่วนธุรกิจในทุกด้าน เรื่องที่สองคือต้องลงทุนอย่างเต็มที่ เพื่อเร่งการประสานงานกันระหว่างกระบวนการปฏิบัติงานทางธุรกิจด้าน SIP และ OPS ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างอัตโนมัติในรูปแบบดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อแก้ปัญหาที่ลูกค้าและธุรกิจกำลังเผชิญ เรื่องที่สามคือต้องสนับสนุนวัฒนธรรมการทำงานที่เปิดกว้างและทำงานแบบประสานกัน เพื่อผลักดันอีโคซิสเต็มดิจิทัลที่เชื่อมโยงถึงกัน โดยไม่เพียงแค่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมเท่านั้นที่ทำงานร่วมกัน แต่ผู้จำหน่ายและผู้จัดหาอุปกรณ์ต่างก็ต้องทำงานร่วมกันเพื่อนำเสนอคุณค่าที่จะกระตุ้นความสนใจให้แก่ลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคและลูกค้าระดับองค์กรได้.