ครม.ไฟเขียว “คลัง-ธปท.” กู้เงินเฉียด 2 ลล. สู้โควิดฯ
ครม.เห็นชอบ “1 พ.ร.บ. + 3 พ.ร.ก.” ตามที่ “สำนักงบฯ – ก.คลัง – ธปท.” เสนอ ด้าน “อุตตม” ย้ำ! เงินกู้ในส่วนคลัง ใช้ตามกรอบมาตรการเศรษฐกิจ เฟส 3 มีแค่ 1 ล้านล้านบาท ยืนยันไม่กู้ไอเอ็มเอฟ แต่อาจเลือก เอดีบีและกู้เงินในประเทศ เผยหากรวมเงินกู้ของ ธปท. วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท แต่แค่ร้อยละ 9 ของจีดีพี ระบุ รัฐบาลพร้อมขยายระยะเวลาและวงเงินจ่ายเยียวยา 9 ล้านคน จากเดิม 3 เดือน 15,000 บาท เป็น 6 เดือน 30,000 บาท สิ้นสุด ก.ย.63
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 7 เม.ย.2563 จากนั้น เดินทางมาแถลงข่าวอีกครั้งที่กระทรวงการคลัง โดยย้ำว่า ครม.เห็นชอบในหลักการทั้งการเกลี่ยงบประมาณ ที่สำนักงบประมาณเสนอให้ออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณ จากหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ ราวร้อยละ 10 ของวงเงินงบประมาณที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ภายในปีงบประมาณ 2563 ซึ่ง นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบฯ โดยคาดว่าจะมีเงินในส่วนนี้ราว 80,000 – 100,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การประชุม ครม.ครั้งหน้า เชื่อว่าสำนักงบประมาณจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้ที่ประชุมฯได้พิจารณา
ในส่วนของ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะออก พ.ร.ก.ฯ รวม 3 ฉบับ โดยเป็นของ ธปท. 2 ฉบับนั้น คิดเป็นวงเงินรวมกันประมาณ 1.99 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนของ พ.ร.ก.กู้ยืมเงินฯ ที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบ จะอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท มอบหมายให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไปพิจารณาว่าจะกู้ยืมเมื่อไหร่ เป็นวงเงินเท่าใด และจากแหล่งใด ซึ่งขณะนี้ มีเงื่อนไขที่ดีจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ที่อาจพิจารณาไปพร้อมกับการกู้เงินภายในประเทศ ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีความจำเป็นจะต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แต่อย่างใด
สำหรับการดูแลประชาชน ในโครงการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ให้แก่ประชาชนในกลุ่มเป้าหมายจำนวน 9 ล้านคน ผ่านการลงทะเบียน www.เราไม่ทิ้งกัน.com นั้น ขณะนี้ ยังคงมีการลงทะเบียนเพิ่มเติมเรื่อยๆ ซึ่ง ที่ประชุม ครม. เห็นชอบที่จะขยายวงเงินและระยะเวลาการดูออกไปอีก 3 เดือน จกาเดิมเดือน เม.ย. – มิ.ย. เป็น เม.ย. – ก.ย. และเพิ่มเงินเยียวยาจาก 15,000 บาท เป็น 30,000 บาท โดยในวันที่ 8 เม.ย.เป็นต้นไป จะเริ่มโอนเงิน 5,000 บาทในเดือนแรก ให้กับผู้ที่ผ่านการคัดกรอง และจะทยอยจ่ายต่อไปจนครบจำนวนที่กำหนดไว้
“การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2563 หรือการจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จะใช้เวลานานซึ่งไม่ทันต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องจัดหาแหล่งเงินงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ โดยการกู้เงินด้วยวิธีการออกพระราชกำหนดเป็นการเฉพาะ” รมว.คลัง กล่าว และว่า
กระทรวงการคลังจึงเสนอมาตรการเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของCOVID-19 เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ต่อระบบเศรษฐกิจ ป้องกันไม่ให้สถานการณ์รุนแรงเข้าขั้นวิกฤติจนต้องสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจและการเงินที่มากเกินจำเป็นอันจะเป็นภาระให้กับประเทศในอนาคต และวางรากฐานเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายดีขึ้น ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบ เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ. ….(ร่าง พ.ร.ก. กู้เงินฯ) ซึ่งรัฐบาลมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและควบคุมการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ แต่ด้วยข้อจำกัดและเงื่อนเวลาการงบประมาณ รัฐบาลจำเป็นต้องตราร่าง พ.ร.ก. กู้เงินฯ โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1,000,000 ล้านบาท เพื่อเป็นงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยสามารถแบ่งกรอบการใช้เงินได้ ดังนี้
1.1 ชุดมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดจาก COVID-19 วงเงิน 600,000 ล้านบาท โดยครอบคลุมการช่วยเหลือและเยียวยาให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 การแพทย์และสาธารณสุข
1.2 ชุดมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยครอบคลุม 1) การเพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ตลาดจนการส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิต และผลิตภัณฑ์ในระดับที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งการสร้างช่องทางทางการตลาด และยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (Local Economy) และ 3) การส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน รวมทั้งการส่งเสริมและกระตุ้นการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชนที่จะทำให้สภาวะการบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติ
2. มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงิน ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง และ ธปท. ร่วมกันวางแนวทางเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน ในสภาวการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นผู้จ้างแรงงานร้อยละ 80 ของประเทศ ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จึงอาจส่งผลให้มีการเลิกจ้างงานและผิดนัดชำระหนี้ ในขณะเดียวกันความผันผวนในตลาดการเงินอาจทำให้บริษัทที่มีคุณภาพ ไม่สามารถไถ่ถอนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ จนกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและลดประสิทธิภาพในการระดมทุน รัฐบาลจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs พร้อมกับการเสริมสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยการตราร่างพระราชกำหนด 2 ฉบับ ดังนี้
2.1 ร่าง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ก. soft loan 500,000 ล้านบาท) สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยร่าง พ.ร.ก. soft loan 500,000 ล้านบาท กำหนดให้ ธปท. สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ให้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี วงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจไปปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มียอดสินเชื่อคงค้างเดิมไม่เกิน 500 ล้านบาท ที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562
โดยผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับสินเชื่อเพิ่มเติมไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดสินเชื่อเดิม ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ได้เพิ่มเติมในระยะ 6 เดือนแรก นอกจากนี้ ยังมีโครงการให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถพักชำระหนี้เดิมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการSMEs เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท
2.2 ร่าง พ.ร.ก.การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ก. BSF) สำหรับเพิ่มสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและระบบการเงิน โดย ร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้ กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund: BSF) และให้ ธปท. สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ในตลาดแรกให้ทำงานได้เป็นปกติ (Market functioning)
โดยกองทุนจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่มีคุณภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว (Temporary liquidity shortage) จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้บริษัทสามารถ rollover หุ้นกู้ต่อไปได้ ทั้งนี้ ธปท. สามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวได้ไม่เกิน 400,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังให้อำนาจ ธปท. ในการซื้อขายตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดรองในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและระบบการเงิน
3. มาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ประกอบด้วย 3 มาตรการ ดังนี้
3.1 ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. …. เพื่อให้ขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 5 ล้านบาทไปถึงวันที่ 10 ส.ค. 2564 เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ฝากเงิน ซึ่งจะเพิ่มความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินในภาพรวม
3.2 มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-banks) เพื่อให้ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้แก่ Non-Banks เพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของแต่ละบริษัทโดยการผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ลิสซิ่ง เช่าซื้อ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อทะเบียนรถให้แก่ประชาชน
3.3 การปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราว ทราบการปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินจากอัตราร้อยละ 0.46 ต่อปี เหลือร้อยละ 0.23 ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินมีต้นทุนต่ำลง ซึ่งจะนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ของภาคธุรกิจและประชาชน
“กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการฯข้างต้น จะเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ให้เดินต่อไปได้ และมาตรการดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง เมื่อวิกฤติครั้งนี้ผ่านพ้นไป โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป” รมว.คลังย้ำ และว่า
หนี้ที่จะเกิดขึ้นใหม่ 1.99 ล้านล้านบาทนั้น เทียบได้ราวร้อยละ 9 ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าข้อเสนอของจากหลายภาคส่วนที่กำหนดกู้เงินราวร้อยละ 10 ของจีดีพี.