คุยพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ที่ประชุมจี -7
สหรัฐอเมริกากระตือรือร้นที่จะยกกรณีพื้นที่พิพาททางอาณาเขตกลางทะเลจีนใต้ จีนเข้าพูดคุยในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศจี-7 ที่จัดขึ้นที่เมืองฮิโรชิมา ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีน
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. นายมาร์ค โทนเนอร์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศกล่าวกับสื่อในกรุงวอชิงตันว่าสหรัฐอเมริกาพร้อมพูดคุยเกี่ยวกับความมั่นคงในเรื่องนี้กับมิตรประเทศสำคัญในเอเชียทุกเมื่อ โดยนายโทนเนอร์กล่าวว่า
“สหรัฐเห็นว่ากรณีพิพาทในทะเลจีนใต้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับภูมิภาคนี้ และสำคัญกับเสถียรภาพของภูมิภาคด้วย ดังนั้น สหรัฐฯ จึงแนะนำให้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยในการประชุมอย่างเป็นทางการ”
นายหวังยี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ว่าการประชุมของกลุ่มประเทศจี-7 ไม่ควรจะโฆษณาชวนเชื่อเกินจริงในกรณีพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้
โดยเขาได้แสดงความเห็นนี้ในการประชุมกับนายฟิลลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษในกรุงปักกิ่ง จากคำแถลงในเว็บไซต์ของรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา
ขณะที่ญี่ปุ่นประเทศเจ้าภาพจะตัดสินใจเกี่ยวกับหัวข้อนี้ในการประชุม 2 วัน ที่เริ่มขึ้นในวันที่ 10 เม.ย. โดยญี่ปุ่นเห็นพ้องกับข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาที่จะพูดคุยในเรื่องกรณีพิพาททะเลจีนใต้ เนื่องจากในช่วงหลายเดือนนี้เหตุการณ์ทวีความเข้มข้นมากขึ้นกลางทะเลที่เป็นเขตการขนส่งทางการค้าและพลังงานที่สำคัญ
ขณะที่อีก 6 ประเทศที่ต่างอ้างสิทธิในอาณาเขตพื้นที่พิพาทนี้ไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมที่เมืองฮิโรชิมาในครั้งนี้ จึงเท่ากับเป็นการเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อสร้างแรงกดดันให้กับจีน
ทั้งนายฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น และนายจอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่างมีกำหนดการที่กล่าวสรุปความคิดเห็นหลังจากการประชุมจบลงในตอนบ่ายของวันที่ 11 เม.ย. นี้
ที่ผ่านมา จีนได้อ้างสิทธิ์มากกว่า 80% ของพื้นที่ทางทะเลและสร้างหมู่เกาะเทียมขึ้นในพื้นที่พิพาทเพื่อการพัฒนาอย่างมีศักยภาพ โดยในปี 2558 สหรัฐอเมริกาได้ส่งเรือรบลอยลำเข้าไปใกล้หมู่เกาะเทียมของจีน เพื่อแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ไม่ยอมรับการอ้างสิทธิ์ในอาณาเขตนี้ของจีน
โดยประเทศที่ต่างอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่พิพาททางทะเลเดียวกันนี้คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย และไต้หวัน
ทั้งนี้ อิทธิพลทางการค้าของจีนแผ่ขยายมากขึ้นพร้อมกับอานุภาพของกองทัพเรือในภูมิภาคนี้ ทั้งขีปนาวุธ เครื่องบินรบ และเรดาร์ควบคุมระยะไกลจากแนวปะการังและหมู่เกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้น