บริษัทญี่ปุ่นช่วยแฮ็คไอโฟนให้เอฟบีไอ
บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่ไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางระหว่างการต่อสู้ทางกฎหมายระหว่างบริษัทแอปเปิ้ล และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาว่าด้วยเรื่องการแฮ็คข้อมูลภายในโทรศัพท์มือถือไอโฟน เริ่มสร้างตัวจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องปาจิงโกะ ก่อนจะซื้อกิจการบริษัทรักษาความปลอดภัยข้อมูลในโทรศัพท์มือถือโดยบังเอิญ
แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวว่า บริษัทเซเลไบรท์ โมบายล์ ซินโครไนเซชัน ทำงานร่วมกับ FBI ในการเจาะข้อมูลโทรศํพท์มือถือไอโฟนซึ่งเชื่อมโยงกับกรณีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย ทั้งนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันความเชื่อมโยงระหว่าง บริษัทเซเลไบรท์ และ FBI โดยเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา โฆษกของบริษัทซันคอร์ป บริษัทแม่ของเซเลไบรท์ กล่าวว่า บริษัทไม่สามารถให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมที่เฉพาะเจาะจงได้
บริษัทซันคอร์ป ตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ ของจังหวัดไอจิ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโตเกียว เมืองนี้มีประชากรราว 100,00 คน ในระยะแรกบริษัทก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างตู้เครื่องเล่นคล้ายพินบอลหรือก็คือ ปาจิงโกะ โดยดำเนินการในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ พ.ศ.2513 โดยที่ผ่านมา บริษัทฯ มีความพยายามที่จะขยายกิจการอยู่บ่อยครั้ง และมีการพัฒนาในด้านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมาโดยตลอด รวมถึงเกมคอมพิวเตอร์และล่าสุดคือแอพพลิเคชันเกมไพ่นกกระจอกในไอโฟน ในปีพ.ศ.2550 เมื่อยอดขายตกต่ำลงจึงทำให้บริษัทซันคอร์ป เข้าซื้อกิจการของบริษัทเซเลไบรท์ ที่ตั้งอยู่ในเปตะห์ติกวาเมืองในเขตกลางของประเทศอิสราเอลเพื่อกอบกู้ฐานะของบริษัทฯ
นายฮิเดฟูมิ ซูงายะ โฆษกของบริษัทซันคอร์ป กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการเจรจาซื้อบริษัทเซเลไบรท์ อย่างถูกต้องตามกฏหมายในเวลานั้น และการเข้าซื้อนั้นก็เพื่อเพิ่มทักษะการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างโทรศัพท์มือถือให้กับบริษัทซันคอร์ป ซึ่งไม่มีประสบการณ์ด้านโทรคมนาคมเป็นหลัก โดยนายซูงายะ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า หลังจากการเข้าซื้อกิจการในครั้งนั้น บริษัทเซเลไบรท์ ก็ได้ FBI มาเป็นลูกค้ารายใหญ่สำหรับการสืบสวนคดีความซึ่งเป็นไปอย่างราบรื่น โดยในปัจจุบันข้อมูลทางธุรกิจของบริษัทซันคอร์ป นั้น มีจำนวนไม่น้อยเลยที่มาจากบริษัทเซเลไบรท์
ทั้งนี้ หุ้นของบริษัทซันคอร์ป ทะยานขึ้นสูงนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. เป็นต้นมา เมื่อเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า บุคคลภายนอกสามารถแสดงวิธีการเจาะข้อมูลและเข้าถึงไอโฟนที่ถูกใช้ในเหตุการณ์กราดยิงสังหารหมู่ในเมืองซานเบอร์นาร์ดิโน รัฐแคลิฟอร์เนียในปีก่อน จึงส่งผลให้หุ้นของบริษัทก้าวกระโดดขึ้นถึง 7% ไปอยู่ที่ 1,1091 เยน ในเวลาปิดทำการตลาดหุ้นที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา
นายไบรซ์ โบแลนด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของเอเชียแปซิฟิกจากบริษัทรักษาความปลอดภัยฟายร์อาย กล่าวว่า หากเป็นบริษัทเซเลไบรท์ คงเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการประชาสัมพันธ์บริษัทฯ ของพวกเขา เพราะมีบริษัทอื่นอีกมากมายที่พร้อมดำเนินการในส่วนภูมิภาคนี้แต่เซเลไบรท์คือบริษัทที่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุด
โดยรายได้จากการเจาะข้อมูลทางโทรศัพท์ของบริษัทเซเลไบรท์ สามารถทำรายได้นำหน้าการผลิตเครื่องเล่นปาจิงโกะของบริษัทซันคอร์ป ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 และได้เงินสนับสนุนจำนวน 13,600 ล้านเยน หรือ 50% สำหรับยอดขายในปีที่ผ่านมา อ้างอิงจากข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ทำให้เซเลไบรท์กลายเป็นธุรกิจย่อยที่ขยายตัวใหญ่ที่สุดของบริษัทซันคอร์ปในเวลานี้
รายงานจากหนังสือพิมพ์รายวันเยดิออธ อาโฮรนอธ ในสัปดาห์ก่อน ระบุว่าบริษัทเซเลไบรท์ ซึ่งมีบทบาทในแวดวงโทรศัพท์มือถือ ได้กลายเป็นผู้ช่วยสำคัญของ FBI ในการเจาะข้อมูลไอโฟนตลอดทศวรรษที่ผ่านมา
กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาได้ชี้แจงเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา เรื่องการสามารถเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของมือปืนผู้ก่อเหตุ พร้อมด้วยความช่วยเหลือของบุคคลที่สาม ทำให้รัฐบาลยกเลิกการบีบบังคับด้วยกฏหมายกับบริษัทแอปเปิ้ล ที่เมืองคูเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย
นายแมท์ ลาร์สัน นักวิเคราะห์หน่วยข่าวกรองของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก กล่าวว่า “แม้ FBI จะไม่ได้รับการตัดสินให้ใช้กฏหมายกับบริษัทแอปเปิ้ลเพื่อทำการแฮ็คข้อมูล แต่ก็เปิดโอกาสให้บุคคลที่สามเข้ามาทำหน้าที่นั้นแทน บริษัทอย่างเซเลไบรท์ อาจกลายเป็นอุตสาหกรรมเฉพาะทางที่ให้การช่วยเหลือ FBI ในการปลดล็อคโทรศัพท์มือถือในคดีที่ถูกเลือกให้ง่ายยิ่งขึ้น”
บริษัทเซเลไบรท์ ได้ให้ข้อมูลไว้ในเว็บไซต์ว่าทางบริษัทขายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อการแยกข้อมูลออกจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำได้แม้ว่าข้อมูลนั้นจะถูกใส่รหัสหรือถูกลบ โดยทางบริษัทว่าจ้างบุคลากรกว่า 500 คน และมีสำนักงานทั้งใน อิสราเอล สหรัฐอเมริกา บราซิล เยอรมัน สิงคโปร์ และ สหราชอาณาจักร โดยก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2543 และถูกบริษัทซันคอร์ป เข้าซื้อกิจการไปในราคา 17.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยนายโจนาธาน เจียซกี นักวิจัยการด้านการรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในข้อมูลของไอโฟน ซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางกฏหมาย ได้กล่าวว่า มูลค่าของบริษัทเซเลไบรท์ ที่มีต่อหน่วยงานภาครัฐนั้นสูงเกินกว่าความสามารถในการเจาะข้อมูลที่ถูกใส่รหัสไปมาก เขายังกล่าวต่ออีกว่า
“เมื่อคุณทำการคัดลอกหลักฐานต่างๆหรือข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือ คุณต้องมั่นใจว่าคุณได้บันทึกมันและจำมันได้ ไม่ได้ดัดแปลงหรือยุ่งกับตัวข้อมูล โดยต้องแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลที่คุณมีอยู่กับข้อมูลที่นำมาใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลนั้นเป็นข้อมูลเดียวกัน บ่อยครั้งที่มีเครื่องมือการแฮ็คข้อมูลให้ใช้กันอย่างฟรีๆ และเครื่องมือเหล่านั้นไม่เพียงข้องเกี่ยวกับข้อมูลในโทรศัพท์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดปัญหามากมายในแง่กฏหมาย เหมือนอย่างที่บริษัทเซเลไบรท์ ได้สร้างขึ้น”
ในขณะเดียวกัน นายไบรซ์ โบแลนด์ กล่าวว่า เขาเองไม่ได้มีความรู้โดยตรงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่บริษัทเซเลไบรท์ มีแนวโน้มว่าจะได้รับวิธีการเจาะข้อมูลไอโฟนจากการเรียนรู้การอัพเดทในแต่ละครั้งที่แอปเปิ้ลได้ปล่อยออกมา หรือจากการอัพเดทซอฟต์แวร์ที่คอยแก้ไขจุดบกพร่องของตัวเครื่อง และทั้งหมดนั้นเป็นวิธีที่ค่อนข้างตรงเป้าสำหรับนักวิจัยที่จะระบุได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง แล้วจากนั้นจึงย้อนกลับไปที่จุดบกพร่องนั้นก่อนจะสร้างเครื่องมือเจาะข้อมูลจากช่องโหว่นั้นๆได้สำเร็จ
หมายเหตุ 100 เยน = 30.86 บาท 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 33.98 บาท.