เดนมาร์กขึ้นแท่นประเทศสุขที่สุดในโลก
จากรายงานที่เผยแพร่ดัชนีความสุขของประเทศทั่วโลก ชี้ว่า โลกจะน่าอยู่และมีความสุขมากกว่านี้ ถ้ามีความเท่าเทียมกัน
มีการจัดทำรายงานดัชนีความสุขโลกขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2555 โดยมุ่งชี้ให้เห็นถึงการกำหนดนโยบายและผลที่ตามมา ที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันจากการกระจายความเจริญในประเทศต่างๆทั่วโลก
ก่อนหน้านี้ กองบรรณาธิการผู้จัดทำมีความเห็นว่า ความสุขจะเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงสวัสดิการสังคมมากกว่าจะแยกรายได้ ความยากจน การศึกษา สุขภาพ และมาตรการภาครัฐที่ดีเป็นส่วนๆอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 มี.ค. เครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDSN) ได้เผยแพร่ดัชนี้ชีวัดความสุขประจำปีนี้ โดยคณะผู้จัดทำได้มีการคิดคำนวณผลการประเมินที่ได้ใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของสวัสดิการที่ได้รับในแต่ละประเทศ
โดย 2 ภูมิภาคที่มีความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นที่มีผลต่อความสุขคือ ภูมิภาคตะวันออกกลางกับแอฟริกาเหนือ และภูมิภาคละตินอเมริกากับหมู่เกาะทะลแคริบเบียน
นายจอห์น เฮลลิเวล นักเศรษฐศาสตร์ ที่เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการของรายงานฉบับนี้ให้ความเห็นว่า “มีความไม่เสมอภาคอย่างยิ่งในหลายด้านของชีวิตในภูมิภาคเหล่านี้”
จาก 156 ประเทศที่จัดอยู่ในอันดับของดัชนีความสุขนี้ เดนมาร์กขยับขึ้นจากอันดับ 3 ในปีที่แล้ว ขึ้นมาอยู่เป็นอันดับ 1 คว้าตำแหน่งประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกในปีนี้ไปครอง
โดย 10 อันดับแรกของประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกคือ
1.เดนมาร์ก 2.สวิตเซอร์แลนด์ 3.ไอซแลนด์ 4.นอร์เวย์ 5.ฟินแลนด์ 6.แคนาดา 7.เนเธอร์แลนด์ 8.นิวซีแลนด์ 9.ออสเตรเลีย 10.สวีเดน
ส่วนประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดคือบุรุนดีในแอฟริกากลาง ที่สงครามกลางเมืองในประเทศได้คร่าชีวิตประชาชนนับร้อยและก่อให้เกิดผู้อพยพจำนวนหลายพันคน
ในสัปดาห์นี้ มีรายงานข่าวว่าสหภาพยุโรประงับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บุรุนดี หลังจากมีข้อสรุปว่ารัฐบาลของบุรุนดีไม่มีความพยายามที่จะคลี่คลายวิกฤติการเมืองในประเทศที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากว่า 400 คน
กลุ่มประเทศที่อยู่ในอันดับล่างๆในดัชนีนี้คือ มาดากาสการ์ แทนซาเนีย ไลบีเรีย กินี รวันดา เบนิน อัฟกานิสถาน โตโก ซีเรีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ส่วนมากจะต้องเผชิญกับปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในรอบทศวรรษที่ผ่านมา
6 องค์ประกอบสำคัญที่ถูกนำมาประเมินเพื่อจัดทำดัชนีความสุขนี้คือ ตัวเลขจีดีพีต่อหัวประชากร ช่วงอายุที่มีสุขภาพดี การช่วยเหลือทางสังคม (วัดจากมีคนให้พึ่งพายามมีปัญหา) ความเชื่อถือได้ ( วัดจากการทุจริตของรัฐบาลและธุรกิจ) มีเสรีภาพในการตัดสินใจ และความเอื้ออาทร ( วัดจากการบริจาคในปัจจุบัน)
ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับ 13 อังกฤษอยู่ที่ 23 ฝรั่งเศสอยู่ที่ 32 และอิตาลีอยู่ในอันดับ 50
หลังจากได้มีการเผยแพร่ดัชนีชี้วัดความสุขขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2555 มี 4 ประเทศที่มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแห่งความสุข คือ ภูฏาน เอควาดอร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเวเนซุเอลา อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตกลงจากอันดับเดิมคือ 20 มาอยู่ที่ 28 ในปีนี้จะมีการฉลองวันความสุขโลกของสหประชาชาติในวันที่ 20 มี.ค.นี้.