เศรษฐกิจโลกชะลอตัวซ้ำรอยญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ปรึกษาเศรษฐกิจชำนาญการอาวุโสจากธนาคารเอชเอสบีซี ได้ร่วมประสานเสียงออกโรงเตือนว่า เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันดูเหมือนจะติดหล่มในรูปแบบเดียวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่ผ่านมา
โดย นายสตีเฟ่น คิง กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกในขณะนี้ค่อยๆทรุดตัวลงอย่างช้าๆ ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าที่วางไว้
นายคิง ให้ความเห็นในรายงานว่า “การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ เตือนให้นึกถึงปัญหาเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษปี 2533 โดยในเวลานั้น ญี่ปุ่นต้องค่อยๆ ประคับประคองตัวเลขจีดีพีที่ตกต่ำรุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ และปัญหาของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นก็กำลังวนมาเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมอีกครั้งในหลายประเทศ ทั้งพันธบัตรที่อ่อนค่า ราคาหุ้นธนาคารดิ่งร่วงและเกิดวงจรเครดิตขาลง”
เขากล่าวว่า ญี่ปุ่นเคยมีสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากที่สุด คือเศรษฐกิจชะงักงัน ไม่เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2533 และในอิตาลีเอง ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำรอยญี่ปุ่น
นายคิง ซึ่งเคยเป็น หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารเอชเอสบีซี มองว่าในที่สุดแล้วทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษจะลงท้ายด้วยตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกในช่วงปี 2550-2551 เป็นต้นมา โดยในปีนี้ สหรัฐฯ มีตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.6% ในขณะที่ตัวเลขของอังกฤษอยู่ที่ 2.2% อ้างอิงจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ ไอเอ็มเอฟ
สถาบันการเงินชั้นนำของโลกหลายแห่งเตือนว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะมีอัตราความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น โดยไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่าตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกของปี 2559 จะอยู่ที่ 3.4 %
ในเดือนมี.ค.นี้ บริษัทมอร์แกน สแตนลีย์ เพิ่มตัวเลขความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะถดถอยในปีหน้าจาก 20% เป็น 30% และไอเอ็มเอฟได้กระตุ้นให้รัฐบาลของแต่ละประเทศ ออกนโยบายและมาตรการที่จะต่อสู้กับสัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น
ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ทีมวางแผนกลยุทธ์จาก ธนาคารซิตี้กรุ๊ป ที่นำโดย นายโจนา ธาน สตับบ์ส์ ได้ออกโรงเตือนว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสภาพเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก เนื่องจากมีสัญญาณเตือนที่เด่นชัดและสอดคล้องกันและตลาดหุ้นเริ่มเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงขาลง.