บัณฑิตใหม่เกาหลีใต้ตกงานเพิ่มขึ้น
อัตราบัณฑิตจบใหม่ที่หางานทำไม่ได้ในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นและมากกว่า 390,000 คนต่อ ปีที่ต้องตกงาน
ความฝันที่จะเป็นภัณฑารักษ์ในพิพิธภัณฑ์ของนางสาวชิน ยัง ที่ทำงานมานาน 13 ปีต้อ งพังทลายลง ทั้งที่เธอจบปริญญาโทด้านศิลปะ 2 ใบจากเกาหลีใต้และอังกฤษ ฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษเพิ่มเติม ทำงานพาร์ทไทม์ในอาร์ตแกลลอรี่เพื่อหาประสบการณ์ต่อยอดไปถึงงานในฝัน แต่สุดท้าย ด้วยวัย 32 ปี เธอก็ต้องตกงานและหมดหวัง เธอเสียงานพาร์ทไทม์ไปเมื่อสัญญาจ้างงาน 1 ปี หมดลงในวันที่ 24 ก.พ.หลังจากต้องทนกับการเหยียดหยามด้วยคำพูดจากหัวหน้างานและเงินเดือนที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยเธอได้เพียง 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 52,500 บาทต่อเดือน
โดยกรณีของนางสาวชิน ไม่ได้เป็นเพียงกรณีเดียวของเกาหลีใต้ ที่แสดงถึงสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาในปัจจุบัน และมีอัตราการว่างงานสูงในคนอายุน้อย โดยประชากรที่มีอายุ15-29 ปีมีอัตราว่างงานสูงถึง 9.5% ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา มีสัดส่วนที่ไม่ลงตัวระหว่างอุปสงค์และตำแหน่งงานที่รองรับได้
ตัวเลขนักเรียนที่จบมัธยมและได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้สูงถึง 80 % และ 2 ใน 3 ของประชากรอายุ 25-34 ปี จะมีปริญญาติดตัว ซึ่งจัดว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจที่อยู่เพียง 40% และเมื่อเปรียบเทียบกับ 60% ของประชากรในสิงคโปร์
ที่ไต้หวันก็อยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน โดยมีตัวเลขสูงเกือบ 70% ที่นักเรียนอายุ 18-22 ปี ในไต้หวันได้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ถือเป็นอันดับ 2 รองจากเกาหลีใต้ และมีอัตราว่างงานในคนอายุน้อยสูงถึง 12.73% เนื่องจากมีความกังวลในอนาคต หากมีการคัดค้านการตัดความสัมพันธ์กับจีน
มีข้อมูลจากภาครัฐว่า ในเกาหลีใต้ คนหนุ่มสาวประมาณ 500,000 คน หรือมากกว่า 60% ที่จบปริญญาตรีและเข้าสู่ตลาดงานในแต่ละปี แต่มีโอกาสงานรองรับเพียง 200,000 ตำแหน่งเท่านั้นที่เหลือเป็นงานชั่วคราวที่ค่าจ้างต่ำ หรือเป็นงานรายวัน ที่มีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 6,030 วอนต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ มีบัณฑิตจบใหม่ 609,000 คนที่ไปเรียนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มทักษะตัวเองในการสมัครงานตำแหน่งที่ดีกว่า จากสำนักงานสถิติแห่งเกาหลีใต้มีจำนวนบัณฑิตถึง 3.34 ล้านคนที่อยู่นอกระบบแรงงานและไม่ได้รับการบันทึกอยู่ในสถิติ โดยคนเหล่านี้จบการศึกษาระดับปริญญาที่ไม่ได้ทำงานและไม่กระตือรือล้นที่จะมองหางานทำ ซึ่งนับว่ามากกว่าตัวเลขคนว่างงานเดิมคือ 1.59 ล้าน คนในปี 2543 และสูงกว่าตัวเลขในปี 2557 ถึง 4.7%
ทั้งนี้ บัณฑิต 398,000 คน หรือ 3.4% ของบัณฑิตทั้งหมดล้วนตกงาน โดยบัณฑิตจบใหม่ที่ว่างงานในปี 2557 เพิ่มสูงขึ้นถึง 32.2% การแข่งขันในการสมัครงานสูงมาก อย่างเช่น ในเดือนก.ย.ปี 2558 มีจำนวนผู้สมัครสอบคัดเลือกเข้าทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างฮุนไดถึง 100,000 คน แต่มีตำแหน่งงานรองรับได้เพียง 4,000 ตำแหน่งเท่านั้น
ในสังคมที่เชิดชูการศึกษาและไม่ต้องการความล้มเหลว คนหนุ่มสาวที่ทะเยอทะยานต่างต้องการทำงานในฝันและไม่ยอมทำงานที่ต่ำระดับลงมา เมื่อไม่ได้ดังฝัน จึงต้องลงเอยด้วยการเตรียมตัวฝึกฝนเพิ่มทักษะอยู่ตลอดเวลาและเฝ้ารอคอยเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี จนกว่างานในบริษัทที่ต้องการจะเปิดรับสมัคร.