“PRIME” ยันโควิด-19 ไม่กระทบ ธุรกิจโรงไฟฟ้า
“PRIME” ยืนยัน ธุรกิจโรงไฟฟ้าไม่กระทบจากไวรัสโควิด-19 เดินหน้าขายไฟฟ้าให้รัฐ 100% เร่งขยายโซลาฟาร์มทั่วเอเชีย และเตรียมเซ็นสัญญาขายไฟกับรัฐบาลกัมพูชา
นายสมประสงค์ ปัญจะลักษณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PRIME ผู้ผลิตพลังงานทดแทนระดับภูมิภาค กล่าวว่า บริษัท ยืนยัน ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ไวรัสโคโรนา (โควิด -19) เนื่องจาก บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน จึงมีรายได้ที่มั่นคง
ปัจจุบัน PRIME มีอัตรากำไรสุทธิในปี 2562 สูงถึง 40% ซึ่งนับว่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งในกลุ่มหุ้นโรงไฟฟ้าและมีอัตราหนี้สิน ที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (IBD/E) เพียง 0.88 เท่า โดยไม่มีหนี้สินในระดับองค์กร จึงสามารถที่จะลงทุนเพิ่ม เพื่อขยายกิจการได้อย่างเต็มที่
และอยู่ระหว่างการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าแห่งประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกัมพูชา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 78เมกะวัตต์ หลังจากชนะการประมูล ระดับนานาชาติ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมูลจากทั่วโลกกว่า 100 บริษัท โดยโครงการนี้มีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้า 60 เมกะวัตต์ ซึ่งจะก่อสร้าง ที่จังหวัดกัมปงชนัง และด้วยประเทศกัมพูชา เป็น 1 ในประเทศกำลังพัฒนา ที่กำลังขยายตัวทางเศรษฐกิจ และภาคอุตสาหกรรม และมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในปริมาณมาก คาดว่าจะมีโอกาสที่จะขยายการลงทุนเพิ่มเติม ในประเทศกัมพูชาอีกด้วย
สำหรับปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 287 เมกะวัตต์ โดยจ่ายไฟแล้ว 179 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนาและก่อสร้าง 108 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นอยู่ในประเทศไทยจำนวน 132.3 เมกะวัตต์ ในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 68.2 เมกะวัตต์ ในประเทศ ไต้หวันจำนวน 8.5 เมกะวัตต์ และ บริษัทฯเตรียมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงาน แสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศกัมพูชา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 78 เมกะวัตต์
และภายใน 4 ปี บริษัท ตั้งเป้าหมายที่จะขยายการผลิตไฟฟ้า เป็น 1,000 เมกะวัตต์ หรือ เติบโตกว่า 300% คาดว่าการเติบโตจะมาจากทั้งการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตสูงและความต้องการพลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก อาทิ กัมพูชา ไต้หวัน เวียดนาม ลาว และ มาเลเซีย โดยอาศัยจุดแข็งของบริษัท คือ ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ความได้เปรียบด้านต้นทุน มีพันธมิตรธุรกิจระดับโลกและการได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมถึงจากสถาบันการเงินระดับนานาชาติ อีกทั้งผู้บริหารของบริษัทฯมีประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนกว่า 10 ปี
อย่างไรก็ดีในปี 2563 – 2565 บริษัทฯ วางแผนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กลยุทธ์ “Go Asia” มุ่งลงทุนโซลาฟาร์มในทวีปเอเชียและ “Go Local” มุ่งพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศ โดยบริษัทมีแผนที่จะประมูลในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของกระทรวงพลังงาน ขนาดกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ โดยอาศัยประสบการณ์ความสำเร็จที่บริษัทฯ เคยชนะการประมูลโครงการโซลาฟาร์มสหกรณ์ เฟส 1 และ 2 รวม 33 เมะวัตต์.