KBANK ร่วมรับใน “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ” UNEP FI
ธนาคารกสิกรไทยตอกย้ำความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจบนรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน เข้าร่วมลงนามรับใน “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ” ของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน หรือ UNEP FI เป็นธนาคารสัญชาติไทยแห่งแรกและแห่งเดียวในธนาคารกว่า 170 แห่งทั่วโลกที่เข้าร่วมในหลักการดังกล่าว เพื่อพัฒนาการดำเนินงานของธนาคารตามมาตรฐานสากล และกำหนดกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยดำเนินธุรกิจบนรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงและการบริหารจัดการต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อสร้างความสมดุลทั้ง 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสร้างความยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และสอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
ธนาคารตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อกลางด้านการเงินให้คนในสังคม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เคารพในสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ลูกค้าและธนาคารเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน ดังนั้น เพื่อประกาศเจตนารมย์ถึงความมุ่งมั่นของธนาคารในการขับเคลื่อนธุรกิจในทิศทางดังกล่าวและพัฒนาอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล ธนาคารกสิกรไทยจึงได้ตอบรับเข้าร่วมใน “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ” (UN Principles for Responsible Banking) ของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (United Nations Environmental Program Finance Initiative) หรือ UNEP FI นับเป็นธนาคารสัญชาติไทยแห่งแรกและแห่งเดียวในธนาคารกว่า 170 แห่งทั่วโลกที่เข้าร่วมในหลักการดังกล่าว
ซึ่งประกอบด้วยหลักการ 6 ประการ ได้แก่
1.Alignment: การมียุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) Paris Agreement และหลักการที่เกี่ยวข้อง
2.Impact & Target Setting: การกำหนดและเผยแพร่เป้าหมายที่ธนาคารสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
3.Clients & Customers: การปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างรับผิดชอบและผลักดันให้เกิดแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน
4.Stakeholders: การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
5.Governance & Culture: การกำกับดูแลและวัฒนธรรมองค์กรสอดคล้องกับหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ
6.Transparency & Accountability: การทบทวนและเปิดเผยข้อมูลตามหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ