แบงก์รัฐปิดสาขาหนีไวรัสโควิดฯ หลังคลื่นมนุษย์บุกหนัก!
แบงก์รัฐ หวั่นสาขาที่รับคลื่นมหาชนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกาศปิดทำการไปแล้ว เผยออมสินปิดบางสาขาแบบไม่มีกำหนดเปิด ขณะที่ ธ.ก.ส. – ธอส. สั่งปิดทุกสาขา เฉพาะ ส.-อา.นี้ ส่วนแบงก์กรุงไทย ปิดเฉพาะสาขาที่อาจมีปัญหา เปิดอีกที 30 มี.ค.นี้
สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ที่รัฐบาลถือหุ้นเกินร้อยละ 50% อย่าง…ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย ต่างประสบปัญหาคล้ายๆ กัน นั่นคือ ภาพของฝูงชนจำนวนมากแห่แหนมายังสาขาของธนาคารเหล่านั้น ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย
บ้างหวังจะมาเปิดบัญชีธนาคารใหม่ บ้างก็ต้องการเพียงจะพ่วงระบบพร้อมเพย์…
ทั้งหมดหวังผลในแง่ของโอกาสการจะได้รับโอนเงินเยียวยา รายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.2563) จากรัฐบาล ตามมาตรการเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา
แม้จะมีการประกาศแจ้งเตือนจากธนาคารเหล่านี้ และจากกระทรวงการคลัง รวมถึงจากสื่อทุกแขนง ที่ช่วยกันประโคมข่าว “ไม่ต้องมาเปิดบัญชีธนาคารใหม่ บัญชีธนาคารเก่า…แบงก์ไหนก็ได้ ใช้ได้หมด” และ “ต้องลงทะเบียนด้วยตนเอง ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.comตั้งแต่ช่วง 6 โมงเย็นเป็นต้นไป
แต่ก็ไม่อาจจะหยุดยั้งฝูงชนเหล่านั้นได้
ผลของการที่ฝูงชนจำนวนมากต่างเดินทางมายังสาขาต่างๆ ของ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารกรุงไทย ทั้งที่มีประกาศ พ.ร.ก.สถานการฉุกเฉินฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา
ทำให้ธนาคารของรัฐและธนาคารที่รัฐถือหุ้นใหญ่ จำเป็นจะต้องประกาศบางปิดสาขา เพื่อไม่ให้สาขาเหล่านั้นกลายเป็นแหล่งรับเชื้อ และ/หรือ แพร่เชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ไปผู้ที่อาจจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ได้
พร้อมกันนั้น ทางสำนักงานใหญ่ ทั้งของธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารกรุงไทย ได้สั่งให้มีการทำ “บิ๊กคลีนนิ่ง” กันขนานใหญ่ เพื่อทำลายเชื้อไวรัสฯที่จะติดมากับใครบางคนในฝูงชนกลุ่มนี้
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผอ.ธนาคารออมสิน กล่าวถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากไปทำธุรกรรมที่สาขาธนาคารออมสินหลายแห่งในหลายพื้นที่ ช่วงวันที่ 26-27 มี.ค. จนเกิดความแออัดหนาแน่นภายในพื้นที่สาขา และอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ห้ามชุมนุมและรวมตัวกันในสถานที่แออัด
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 ดังนั้น ธนาคารฯ จึงขอปิดการให้บริการสาขาในบางสาขาที่มีประชาชนไปใช้บริการจำนวนมาก เพราะอาจเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ต่อทั้งประชาชนและพนักงานธนาคารออมสิน ตั้งแต่ช่วงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 27 มี.ค.2563 เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ขณะที่ นายผยง ศรีวณิช กก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ก็ระบุว่า แม้ธนาคารฯจะมีมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อรับมือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยการคัดกรองลูกค้า สอบถามประวัติการเดินทางลูกค้าทุกราย ตรวจวัดอุณหภูมิ จัดเตรียมเจลล้างมือ และจัดระเบียบที่นั่งและรอคิวโดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร
แต่ภายนอกสาขานั้น มีประชาชนมารอต่อคิวอย่างล้นหลาม จึงมีความสุ่มสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และไม่สอดคล้องกับแนวทางป้องกันโรคระบาดที่ควรเว้นระยะห่างทางสังคมของทางราชการ ดังนั้น ธนาคารกรุงไทยจึงมีความจำเป็นต้องปิดทำการในวันที่ 28-29 มี.ค.63 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยจะเปิดทำการตามปกติในวันที่ 30 มี.ค.63
ไม่ต่างจาก ธ.ก.ส. ที่มีรายงานระบุว่า ธนาคารฯได้ประกาศปิดทำการทุกสาขาในวันเสาร์ที่ 28 และวันอาทิตย์ที่ 29 มี.ค.2563 ด้วยเหตุผลเดียวกับธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย
นอกจากนี้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่แม้ไม่ประสบปัญหาเหมือนกับ 3 ธนาคารข้างต้น แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ได้ประกาศปิดให้บริการทุกสาขาทั่วประเทศ ในวันเสาร์ที่ 28 และวันอาทิตย์ที่ 29 มี.ค.เช่นกัน ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าประชาชน และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ลูกค้ายังสามารถใช้บริการช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารฯได้ตลอด 24 ชม..