เมียนมายืนยันผู้ป่วยติดเชื้อ 2 รายแรก
ย่างกุ้ง : เมื่อวันที่ 23 มี.ค. เมียนมารายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 จำนวน 2 รายแรกของประเทศ หลังจากเมียนมาปลอดผู้ป่วยมานานสวนทางกับประเทศอื่นๆในอาเซียนที่มีผู้ป่วยยืนยันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เมียนมาซึ่งมีจำนวนประชากรมากถึง 54 ล้านคน กลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโรคระบาดแม้แต่คนเดียว นับตั้งแต่เกิดโรคอุบัติใหม่นี้ขึ้นในโลก ซึ่งส่งผลให้คนทั่วโลกกว่า 1,700 ล้านคนต้องทำงานอยู่ที่บ้าน
มีการตรวจทดสอบไวรัสเพียง 214 รายในวันที่ 23 มี.ค. บรรดาผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มสิทธิเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาแสดงจุดยืนและเผชิญกับวิกฤตที่กำลังจะมาถึง
กระทรวงสาธารณสุขเมียนมายืนยันผู้ป่วยติดเชื้อ 2 รายแรกว่า เป็นชายชาวเมียนมาวัย 36 ปีที่เดินทางกลับจากสหรัฐฯ และชายชาวเมียนมาวัย 26 ปีที่เดินทางกลับมาจากสหราชอาณาจักร
“ เราจะสอบสวนโรคกับทุกคนที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยชายทั้งสองคน” แถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขเมียนมาระบุ
คำประกาศนี้ก่อให้หลายคนเกิดความตื่นตระหนก และแห่กันไปซื้อสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในนครย่างกุ้งแห่งหนึ่งที่เปิดตลอด 24 ชม.
รัฐบาลเมียนมาอ้างว่า รูปแบบการใช้ชีวิตของชาวเมียนมา ( ซึ่งรวมถึงการขาดปฏิสัมพันธ์ทางร่างกายและการใช้เงินสดมากกว่าบัตรเครดิต ) นับเป็นวิธีการปกป้องคุ้มครองประเทศอย่างหนึ่ง
โดยฟิล โรเบิร์ตสันจากกลุ่ม Human Rights Watch ระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า แนวคิดของรัฐบาล “ไร้ความรับผิดชอบ” โดยระบุว่าทำให้ประชาชนมีความเข้าใจผิดเรื่องความปลอดภัย
มีการสั่งปิดสถานที่สาธารณะในช่วงไม่กี่วันนี้ รวมถึงโรงเรียนและโรงภาพยนตร์ ไปจนถึงบาร์คาราโอเกะและร้านนวด นอกจากนี้ เมียนมายังประกาศยกเลิกการฉลองเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเม.ย.นี้ด้วย
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. แรงงานอพยพชาวเมียนมาเร่งเดินทางออกจากด่านพรมแดนไทยก่อนเวลาปิดทำการ
ขณะที่ชาวต่างชาติก็เร่งเดินทางออกจากเมียนมาเช่นกัน เนื่องจากมีคำเตือนจากสถานทูตของประเทศต่างๆ ว่าหากล่าช้า อาจติดอยู่ในเมียนมา ซึ่งริชาร์ด ฮอร์ซีย์ นักวิเคราะห์ระบุว่า “เป็นหนึ่งในประเทศที่ระบบสาธารณสุขย่ำแย่ที่สุดในโลก”
โดยเขากล่าวกับสื่อว่า “ เมียนมาแทบจะไม่มีระบบสวัสดิการสังคม ดังนั้น กลุ่มคนที่ยากจนจะเผชิญกับวิกฤตสาธารณสุขและเศรษฐกิจ”
แพทย์คนหนึ่งในเมืองปะเต็ง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า โรงพยาบาลมีเพียง 7 เตียงในวอร์ดแยกกักตัว และมีเครื่องช่วยหายใจเพียงเครื่องเดียว และ “ ไม่มีทาง” ที่จะพร้อมรับมือกับไวรัสเลย
“ หากเรามีผู้ป่วยมากกว่า 7 คน เราจะทำยังไง ? ” นายแพทย์ Than Min Htut โพสต์ถาม
กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังแสดงความกังวลเรื่องผู้อพยพหลายแสนคน ที่ถูกกักอยู่ในค่ายในหลายมุมของประเทศ
ขณะที่ฮอร์ซีย์เตือนว่า บุคลากรในรัฐบาล รัฐสภา และสถาบันอื่นๆ ล้วนแต่เป็นผู้สูงวัย ซึ่งป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดจากไวรัสโควิด – 19