“โอบามา” ร่วมลงนามทีพีพี
ประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี ได้ลงนามข้อตกลงอย่างเป็นทางการที่นิวซีแลนด์ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านของชาวนิวซีแลนด์ ส่วนโอบามาได้ทียกขึ้นเกทับจีนทันที
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ว่า กลุ่มรัฐมนตรีการค้าของประเทศสมาชิกข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี จำนวน12ประเทศซึ่งประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไนฯ แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเวียดนาม ร่วมกันลงนามข้อตกลงทีพีพีที่เมืองโอ๊คแลนด์ของนิวซีแลนด์ในวันเดียวกันนี้ ท่ามกลางการชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่อต้านทั้งที่หน้าสถานที่ทำพิธีลงนาม และที่กรุงเวลลิงตันของนิวซีแลนด์ เพราะเห็นว่าจะกระทบวีถีชีวิตคนท้องถิ่นโดยเฉพาะภาคเกษตรและปศุสัตว์
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ออกมาแถลงหลังพิธีลงนามที่เมืองกีวี่ว่า ทีพีพียอมให้สหรัฐฯไม่ใช่ประเทศอย่างจีนเพื่อเขียนระเบียบโลกในศตวรรษที่ 21 แต่เพื่อลดทอนวาทะต่อต้านจีน นายไมเคิล โฟรแมน ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้ระบุว่า ทีพีพีไม่ได้ต่อต้านประเทศหนึ่งใดเป็นการเฉพาะ สำคัญยิ่งที่ต้องคงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับจีน
ขณะที่จีนยังคงไม่มีท่าทีใดๆกับข้อตกลงทีพีพี ระบุเพียงว่าเจ้าหน้าที่จีนกำลังศึกษารายละเอียดเอกสารข้อตกลงทีพีพีที่มีกว่า 6,000 หน้า ด้านกระทรวงพาณิชย์ของจีน แถลงว่าจีนจะเข้าร่วมอย่างแข็งขัน และช่วยส่งเสริมข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในภูมิภาคให้โปร่งใส เปิดกว้าง และครอบคลุม
ข้อตกลงทีพีพีต้ังเป้าเปิดเสรีการค้า การบริการ และการลงทุนระหว่างสมาชิกที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราว 40% ของทั้งโลก ขณะเดียวกันถูกมองว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของสหรัฐฯ ในยุคผู้นำโอบามา เพื่อรับมือการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค
ส่วนขั้นตอนต่อไป แต่ละชาติสมาชิกต้องให้สัตยาบันเพื่อให้มีผลบังคับใช้ แต่ในบางประเทศคงไม่ง่าย อย่างเช่น สหรัฐฯ ซึ่งฝ่ายค้าน รีพับลิกันยังยึดท่าทีต่อต้าน แม้แต่นางฮิลลารี คลินตัน อดีตสตรีหมายเลข 1 และ รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังตั้งคำถามเนื้อหาในข้อตกลงทีพีพีว่าจะส่งผลดีต่อประเทศจริงหรือไม่