ทหารคุมเข้มคำสั่งห้ามเดินทางในมาเลเซีย
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. มาเลเซียใช้กำลังทหารเพื่อคุมเข้มคำสั่งห้ามเดินทางในประเทศ เนื่องจากมาเลเซียมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด – 19 มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มาจากการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางศาสนา
แพทย์วัย 48 ปีจากโรงพยาบาล Tuanku FauZiah (HTF) ในรัฐปะลิสกลายเป็นเหยื่อรายล่าสุดที่ถูกไวรัสคร่าชีวิต ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้งหมดในมาเลเซียอยู่ที่ 9 ราย
จนถึงตอนนี้ มาเลเซียรายงานผู้ป่วยยืนยันทั้งหมด 1,183 ราย และมีผู้เสียชีวิต 9 ราย โดยในกลุ่มประเทศอาเซียนมีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 3,200 ราย ประเทศอื่นๆที่มีตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นคือประเทศไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์และฟิลิปปินส์
ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในมาเลเซียมีความเกี่ยวข้องกับการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางศาสนาอิสลามเมื่อเดือนก.พ. โดยบุคลากรทางการแพทย์หลายสิบรายจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนติดเชื้อไวรัส
มาเลเซียต้องใช้กำลังทหารเข้าควบคุมเนื่องจากมีคนที่ละเมิดคำสั่งซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. จากถ้อยแถลงของรมว.กระทรวงกลาโหมในการแถลงข่าว หลังจากทหารเริ่มปฏิบัติงานในช่วงบ่าย
“ แม้ตำรวจจะบอกว่าประชาชน 90% ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่อีก 10% ที่เพิกเฉยก็ไม่ใช่จำนวนน้อย ” อิสมาอิล ซาบรียาคอบ รมว.กลาโหมระบุ
“ มีการสนธิกำลังตำรวจและทหารในปฏิบัติการปิดถนน นอกจากนี้ยังมีกำลังทหารในเมืองและชนบท รักษาความปลอดภัยที่โรงพยาบาล รวมถึงจัดการพื้นที่แออัด เช่น ตลาด ”
อิสมาอิล ซาบรีประกาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ว่า จะมีการใช้กำลังทหารคุมเข้มคำสั่ง เนื่องจากยังมีชาวมาเลเซียที่ยังคงออกมาตามท้องถนน แม้จะมีคำสั่งห้ามเดินทางที่มีผลตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน ประกาศปิดประเทศ ห้ามเดินทางจนถึงวันที่ 31 มี.ค.
โดยคำสั่งครอบคลุมการห้ามอยู่รวมกลุ่มกัน ทั้งกิจกรรมทางศาสนา การแข่งขันกีฬา งานอีเวนต์ทางสังคมและวัฒนธรรม สถานประกอบพิธีทางศาสนาและธุรกิจถูกปิด แต่ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาด ตลาดย่อยและร้านสะดวกซื้อยังเปิดอยู่
โดยในช่วงสองสัปดาห์นี้ โรงเรียน มหาวิทยาลัย และธุรกิจปิดหมด แต่บริการที่สำคัญ เช่น สาธารณูปโภค คมนามคม ธนาคาร สุขภาพและความปลอดภัยยังคงเปิดทำการได้
ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อประมาณ 60% มีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนาอิสลามนาน 4 วันที่มัสยิดใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์
ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมให้ความร่วมมือกับทางการ หลังจากเมื่อวันที่ 19 มี.ค.รับบาลชี้แจงว่าได้ติดตามตรวจสอบผู้ที่เข้าร่วมแล้ว 4,000 คนจากทั้งหมด 14,500 คนที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า เนื่องจากทางการพยายามติดตามตัวผู้ที่เข้าร่วมพิธีในวันที่ 27 ก.พ. – 1 มี.ค.
“ หลังจากมีรายงานการตรวจคัดกรองหลายพันคน หลายคนกลับไปแจ้งชื่อและรายละเอียดกับสาธารณสุขในพื้นที่ หรือโรงพยาบาลเพื่อการสอบสวนโรค ” อับดุลเลาะห์ เฉิง หัวหน้าทีมบริหารสถานการณ์ระบุเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา
“ เรามีความพร้อมและให้คำมั่นว่าจะช่วยทางการรับมือกับโรคระบาด” เขายังระบุว่า 12,500 คนที่เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา รวมถึงชาวต่างชาติและผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 200 คน ทำให้รัฐบาลระบุตัวเลขไว้ที่ 16,000 คน