ปิดประเทศ-ล็อคดาวน์โควิด-19 ยาแรงต้านไวรัสมรณะ ไซด์เอฟแฟกต์น็อคเศรษฐกิจ
ข้อเสนอล็อกดาวน์ประเทศ-ปิดเมืองดังกระหึ่มขึ้นทุกขณะ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย ณ วันที่ 20 มีนาคม 2563 มียอดผู้ป่วยสะสม 322 คน รุนแรง 3 คน เสียชีวิต 1 คน กลับบ้าน 44 คน
ยาแรง-กฎเหล็กถูกโยนหินถามทาง คือ การใช้อำนาจตามกฎหมายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
โดยเฉพาะ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” มาตรา 9 (1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ เป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น
หรือ การประกาศ “เคอร์ฟิว” ห้ามออกจากเคหสถานในช่วงเวลาที่กำหนด (กลางคืน)
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือ ป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังนี้ไปนี้…เป็นกฎเหล็กหนัก-เบาต่างกัน
(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ เป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น
(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ
(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด
มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การประกาศ “เคอร์ฟิว” เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อคราวเกิดการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 และการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557
ทั้งนี้ ในสมัยคสช. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ขณะนั้น เคยออกประกาศเคอร์ฟิว และต่อมามีการประกาศคสช.ฉบับที่ 8/2557 เป็น “ข้อยกเว้น” การห้ามออกเคหสถาน ดังนี้
1.ผู้ที่จะเดินทางเข้าออกประเทศ 2.เจ้าหน้าที่หรือพนักงานปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติงาน หรือทำงานในสถานที่ประกอบที่ต้องปฏิบัติงาน เป็นห้วงเวลา อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ธุรกิจการบิน เป็นต้น
3.การเดินทางขนส่งสินค้า หรือของกิจการห้องเย็น การนำเข้า ส่งออกสินค้าที่มีอายุจำกัด และอาจเกิดเสียหาย 4.ผู้มีกิจธุระจำเป็น เช่น ผู้ป่วยต้องเดินทางไปโรงพยาบาล และ 5.ผู้ที่มีกิจธุระจำเป็นอื่น ๆ ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่นั้น ๆ
ก่อนหน้านี้รัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 กำหนด 6 ด้าน 15 มาตรการ คุมเข้ม
ประกอบด้วย 1.ให้ผู้เดินทางมาจากประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง (ยังไม่ประกาศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย) ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการด้านวิชาการภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด ถูกคุมไว้สังเกตตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน
2.พัฒนาระบบและกลไกการกักกันผู้ที่เป็นหรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ณ ที่พำนักตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558
3.กำหนดมาตรการลดความเสี่ยงสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง เช่น มีใบรับรองแพทย์ มีประกันสุขภาพอย่างน้อย 100,000 USD มีที่พำนักที่สามารถติดต่อได้ในประเทศไทย หากไม่ปฏิบัติตามจะไม่สามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยได้ รวมทั้งคนไทยที่พำนักอาศัยต่างประเทศ ให้ชะลอการเดินทางกลับประเทศไทยจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศจะดีขึ้น
4.ห้ามข้าราชการ พนักงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจเดินทางไปต่างประเทศ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นสำคัญและเตือนประชาชนให้งดการเดินทางไปในประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง
โดยมาตรการยับยั้งการระบาดภายในประเทศ ประกอบด้วย 1.เลื่อนวันหยุดสงกรานต์ (13-15 เมษายน) 2.ปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัดเบียดเสียด แบ่งออกเป็น ปิดชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย สำหรับสนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ในพื้นที่กรุงเทพๆ และปริมณฑล
ปิดชั่วคราว 14 วัน สำหรับ ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3.กำหนดมาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 4.งดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบัน หรือปรับวิธีการเรียนการสอนเป็นทางออนไลน์ ให้ปิดชั่วคราวตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันโรคตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
5.งดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เช่น การจัดคอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่าง ๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่มีความจำเป็นสำคัญ
6.งดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัดของหน่วยงานที่มีคนจำนวนมาก ได้แก่ ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน หรือหากจำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ของโรค เช่น การตรวจคัดกรองคนก่อนเคลื่อนย้าย รวมถึงจำกัดการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างด้าว
7.ให้สถานที่ทำงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ลดความแออัด โดยเหลื่อมเวลาทำงาน เหลื่อมเวลาพักรับประทานอาหาร และจัดที่นั่งให้ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร โดยให้หน่วยราชการทุกหน่วยทำแผนการเหลื่อมเวลาการทำงานและรายงานผลการปฏิบัติต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)
8.ส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต เช่น ประชุมทางไกลเพื่อให้บุคลากรทำงานที่บ้านทดแทนภาวะปกติประชุมทางไกลผู้ถือหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ และส่งเสริมระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการซื้อขายออนไลน์สำหรับประชาชนทั่วไป โดยให้หน่วยราชการทุกหน่วยทำแผนการทำงานจากบ้านและรายงานผล
9.ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ ในสถานที่ที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ เช่น คัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าอาคาร การวางเจลล้างมือในจุดที่มีการใช้ร่วมกัน การทำความสะอาดพื้นผิวและห้องสุขา จำกัดจำนวนคนเข้าใช้บริการในแต่ละช่วงเวลา
10.ร้านค้า ร้านอาหาร ให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส ห้องสุขา การคัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าร้าน การดูแลสุขภาพและป้องกันการติดเชื้อของพนักงาน เช่น ใช้หน้ากากผ้า การจัดเจลล้างมือ การจัดการขยะ
11.ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศ และเพิ่มความถี่ของการเดินรถ 12.ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปใช้หน้ากากผ้าเมื่อเดินทางเข้าสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก และเร่งผลิตหน้ากากผ้าให้เพียงพอ
13.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 เพื่อจำกัด ดูแล การเคลื่อนย้ายที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาด หรือกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการจำกัด พื้นที่เสี่ยงตามข้อมูลที่มีการแพร่ระบาด และแจ้งมาตรการที่จะดำเนินการต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด 19) ทราบและให้ความเห็นชอบโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกวัน
14.ให้มีการกำหนดให้ชาวต่างประเทศ รวมทั้งคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ให้มีการใช้แอปพลิเคชั่น Application ติดตามตัว
15.ให้เร่งดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคในทุกอำเภอ เขต หมู่บ้าน ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยด่วนและให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในการดำเนินการเฝ้าระวัง
ทั้งนี้ การควบคุมการระบาดของโรค อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้มีอำนาจ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวซ้อง ดำเนินการกักกัน คุมไว้สังเกต การปิดสถานที่ เลื่อนหรืองดกิจกรรม อันมีผลต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทั้งในระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร
เป็นไซด์เอฟแฟกต์ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างน้อย “ครึ่งปี” นับจากนี้