เกาหลีใต้ผงาดเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของโลก
ในโลกของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เกาหลีใต้ขึ้นเป็นที่ 1 ของโลก ตามมาด้วยเยอรมนี สวีเดน ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ ที่ดาหน้ากันเข้ามาเป็น 5 ประเทศสุดยอดในดัชนีนวัตกรรมของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
โดยดัชนีชี้วัดจากบลูมเบิร์กนี้ให้คะแนนเศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมจากการทำวิจัย และการใช้จ่ายในการพัฒนา และความมุ่งมั่นของบริษัทผู้ผลิตสินค้าไฮเทคในแต่ละประเทศ
ประเทศเกาหลีใต้ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ของโลกจากการเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า พร้อมกับประสิทธิภาพในขั้นตติยภูมิ ซึ่งเป็นมาตรการวัดผลที่ลงลึกในรายละเอียดไปถึงจำนวนการลงทะเบียนเรียนต่อในการศึกษาระดับที่สูงขึ้น และการมุ่งมั่นเพื่อให้จบการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ของนักศึกษา ในขณะที่เกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 39 จากความสามารถในการผลิตระดับปานกลาง เป็นอันดับ 2 ในหัวข้อความเข้มข้นในการวิจัย และพัฒนาความหนาแน่นของเทคโนโลยีขั้นสูง และกิจกรรมเพื่อให้ได้สิทธิบัตร และอยู่ในอันดับ 6 ในหัวข้อความเอาใจใส่ของผู้ทำวิจัย
จากความเห็นของนายมาร์คัส โนแลนด์ หัวหน้าฝ่ายศึกษาของสถาบันแพตเตอร์สันเพื่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน มีว่า นักวิเคราะห์ให้คะแนนสำหรับประเทศที่ใช้งบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ และสามารถผลิตจนมีสัดส่วนทางวิศวกรรมมากในระดับโลก นอกจากนี้ยังมีการประชุมอภิปรายในเกาหลีใต้มากขึ้น ในหัวข้อเรื่องจะทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูขึ้นจากนวัตกรรมได้อย่างไร
ไอเดียสดใหม่จากในซิลิคอน วัลเลย์ อาจแปรเปลี่ยนไปเป็นของผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นในเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ผู้คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ในเกาหลีใต้ยังคงทำงานอยู่ในที่เดิม
นายโนแลนด์ ให้ความเห็นว่า”นักวิทยาศาสตร์ หรือวิศวกรในบริษัทซัมซุงอิเล็คโทรนิกส์ ที่มีไอเดียสุดแสนบรรเจิด จะไม่ลาออก และแสวงหาโอกาสนำเสนอไอเดียกับนักลงทุนเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของบริษัทเอง แต่พวกเขาจะบริหารจัดการกันในซัมซุงเอง” เขายังกล่าวอีกว่า
“การพิจารณาค่าแรงขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการทำงาน และอายุ นอกจากนี้ยังไม่มีการปรับขึ้นของเงินบำนาญ แสดงว่า ไม่มีบริษัทต่างชาติหรือการติดต่อกับต่างชาติมากนักในเกาหลีใต้” เขากล่าวเสริมว่า“เกาหลีใต้อยู่ในสถานะที่ถูกบีบคั้นจากค่าแรงที่ต่ำกว่าของจีน และเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำหน้ากว่าของญี่ปุ่น ทำให้ต้องมีความกระตือรือล้น และความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะคงสถานะที่โดดเด่นอย่างนี้ต่อไป”
ในเวลาเดียวกัน การมีชื่ออยู่ใน 50 อันดับแรกอาจช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจะเป็นการช่วยกระตุ้นการเติบโตในระยะยาว
นายเจย์ บรีสัน นักเศรษฐศาสตร์โดยรวมจาก เวลส์ ฟาร์โก้ เซคิวริตี้ส์ แอลแอลซี ในเมืองชาร์ล็อต รัฐนอร์ธ แคโรไลน่า ให้ความเห็นว่า “ถ้าคุณมีเศรษฐกิจเชิงนวัตกรรม ทุกอย่างจะเท่ากันหมด คุณจะเอาใจใส่ที่จะมีการเติบโตในการผลิตที่เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน”
นายบรีสัน ให้ข้อมูลว่า สหรัฐฯ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ในอันดับ 8 ส่วนจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 อยู่ในอันดับที่ 21 ในดัชนีนวัตกรรมนี้ จากสถานะของประเทศพัฒนาแล้วที่เทคโนโลยีจำนวนมากเป็นการทำซ้ำมากกว่าการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่
ทั้งนี้บางประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงในดัชนีนี้ กลับได้คะแนนสูงจากค่าแรงที่ถูก มากกว่าเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ดัชนีที่เผยแพร่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศทางเหนือชนะประเทศจากทางใต้ในเศรษฐกิจระดับโลก โดยประเทศจากทวีปแอฟริกาเช่น ตูนีเซีย อยู่ในอันดับที่ 46 และโมร็อกโคอยู่ในอันดับ 48 ส่วนประเทศจากทวีปอเมริกาใต้ นอกจากอาร์เจนตินา ที่อยู่ในอันดับ 49 แล้ว ก็ไม่มีประเทศอื่นเลยที่ติดอยู่ใน 50 อันดับแรกโดย 6 จาก 10 อันดับแรกมาจากทวีปยุโรป และ 3 ประเทศมาจากทวีปเอเชีย