เศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ทรุดหนัก
ปี 2558 นับเป็นปีที่ย่ำแย่ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จากผลกระทบของการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ทรุดลง ราคาโภคภัณฑ์ที่ลดต่ำลง และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ถึงแม้ตัวเลขจะมีการดีดกลับขึ้นมาบ้างเล็กน้อยในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ดัชนีอ้างอิงMSCI ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งครอบคลุมถึง 23 ประเทศกำลังพัฒนา แสดงให้เห็นถึงตัวเลขที่ลดลงมากกว่า 17% ตลอดทั้งปี และลดลงเกือบ 10% ตั้งแต่เดือนต.ค.58
วิกฤติเศรษฐกิจในยูโรโซนที่ส่งผลกระทบสูงสุดในปี 2554 ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลกตกต่ำลง แต่สำหรับบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไนจีเรียและซาอุดิอารเบีย ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซบเซามาตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2551
จีน ซึ่งเปรียบเป็นหัวใจในอุตสาหกรรมของเศรษฐกิจโลก ต้องเฝ้ามองมูลค่าตลาดหุ้นในประเทศร่วงลงกว่าครึ่งจากมูลค่าจริงในช่วงกลางปี เมื่อมีความกังวลถึงการเติบโตของประเทศตลาดเกิดใหม่ การดิ่งลงของตลาดหุ้นจีนเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของปีนี้ ถึงแม้จะฟื้นตัวขึ้นมาได้ประมาณ 10% จากมูลค่าที่ทรุดฮวบลงไปทั้งหมด โชคดีที่ครึ่งปีแรกตลาดหุ้นจีนพุ่งทะยานติดลมบนไปก่อน จึงทำให้ตัวเลขรวมปีนี้ยังเป็นบวกอยู่ที่ 8%
ค่าเงินเต็งเกของคาซัคสถาน และเปโซของอาร์เจนติน่าอ่อนค่าลงไปถึง 45% และ 35% ตามลำดับ โดยรัฐบาลของทั้งสองประเทศต้องประกาศลอยตัวค่าเงิน เนื่องจากไม่สามารถสรรหามาตรการอื่นๆมาปกป้องค่าเงินได้อีกต่อไป
อาเซอร์ไบจันก็ประกาศลอยตัวค่าเงินเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เงินอ่อนค่าลงไป 30% ค่าเงินของบราซิลอ่อนค่าลงไป 33% และมูลค่าพันธบัตรก็ลดลงไปเกือบ 14% นับได้ว่าบราซิลเป็นประเทศที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เพราะมีทั้งวิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลต่อการจัดอันดับประเทศที่น่าลงทุนทางธุรกิจด้วย
แอฟริกาใต้เป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบนี้ ค่าเงินแรนด์ร่วงลงไปถึง 23% หลังจากที่มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลังไปถึง 3 คนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พันธบัตรก็ลดลงไป 5%
ไนจีเรียซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา ก็เกิดความปั่นป่วนเมื่อตลาดหุ้นดิ่งลงถึง 22% เป็นผลต่อเนื่องของรายได้จากราคาน้ำมันที่ทรุดลง ขณะที่ตลาดหุ้นในซาอุดิอารเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันเป็นลำดับต้นๆของโลกก็ร่วงไปถึง 17%
ตุรกีเป็นอีกประเทศที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันเช่นกัน จากความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นเมื่อตอนต้นปี ความตึงเครียดกับรัสเซีย และความกังวลถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ทำให้ค่าเงินลีร์และตลาดหุ้นในอิสตันบูลดิ่งลงเกือบ 20% ค่าเงินรูเปียของอินโดนีเซียและริงกิตของมาเลเซียอ่อนค่าลง 10% และ 19% ตามลำดับ
ขณะที่เงินเปโซของโคลอมเบียซึ่งเป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ก็อ่อนค่าลงเกือบ 30% ในปีนี้
แต่ก็มีบางประเทศที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกในปีนี้ ถึงแม้จะถูกคว่ำบาตรจากวิกฤติในยูเครน และมูลค่าการส่งออกน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าหลักลดฮวบลงไปถึง35% แต่มูลค่าพันธบัตรของรัสเซียกลับพุ่งขึ้นถึง 20% สำหรับผู้ที่ซื้อไว้ตั้งแต่ต้นปี
ดัชนี BUXในตลาดหุ้นฮังการี ก็พุ่งทะยานขึ้นไปมากกว่า 40% นับเป็นการซื้อขายหุ้นที่ยอดเยี่ยมที่สุดของโลกในปี 2558 นี้