ตลท.สั่งหยุดซื้อขายหุ้นชั่วคราว หลังดัชนีดิ่งแรงทะลุ 10%
กลายเป็นอีกวันประวัติศาสตร์ในวงการค้าหลักทรัพย์ของไทย หลังจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (Circuit Breaker) เป็นเวลา 30 นาที เมื่อช่วงบาย (14.38-15.08 น.) หลังจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทย ร่วงลงอย่างรุนแรงถึง 125.05 จุด หรือลดลงกว่าร้อยละ 10 โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯไหลไปอยู่ที่ 1,124.84 จุด ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยร่วงแรงเหมือนกับตลาดทั่วโลก จากความวิตกกังวลในการการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธ์ใหม่ (โควิด-19)
โดยเป็นการใช้ Circuit Breaker ในตลาดหุ้นไทย ถือเป็นครั้งที่ 4 นับแต่มีการประกาศใช้แรก เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2549 เมื่อช่วงเวลา 11.26 น. หลังจากดัชนีตลาดหลักทรัพยฯ ตกลงเกินร้อยละ10 โดยมีมูลเหตุมาจากการที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศใช้มาตรการกันสำรอง 30%
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2551 เมื่อช่วงเวลา 14.35 น. โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯลดลงเกินร้อยละ 10 สาเหตุเพราะวิกฤติเศรษฐกิจโลกจากสหรัฐ ที่เรียกกันว่า “แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส”
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2551 หรืออีก 17 วันต่อมา (จากครั้งที่ 2) เมื่อช่วงเวลา 16.04 น. ด้วยเหตุผลเดียวกัน นั่นคือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯลดลง 10% จากวิกฤติ “แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส”
นักวิเคราะห์และนักลงทุน ต่างมองสถานการณ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำระบบ Circuit Breaker มาใช้เป็นครั้งที่ 4 เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (12) ไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ อาจยาวนานต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน ซึ่งมีโอกาสสูงที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจนำระบบ Circuit Breaker มาใช้อีกมากกว่า 1 ครั้ง
พร้อมกับเสนอแนะให้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรม พร้อมทั้ง เปิดเผยข้อมูล-ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ไวรัสดังกล่าว ให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนโยบายของรัฐบาลและการดำเนินมาตรการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ กระทั่ง มีผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯของไทย.