“KW Thailand” วอนรัฐแก้ปัญหาดูแลภาคอสังหาฯ ให้ถูกจุด
ซีอีโอ “KW Thailand” เครือข่ายโบรกเกอร์ระดับโลก วิเคราะห์อสังหาฯไทยยังอยู่ในภาวะซบเซา วอนรัฐแก้ปัญหาภาคอสังหาฯให้ตรงจุด หลังหลายมาตรการที่ออกมา ไม่กระตุ้นตลาด แนะรัฐแก้ ขยายฐานลดค่าธรรมเนียมในระดับ 5-10 ลบ.
นายวิทย์ กุลธนวิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KW Thailand บริษัทตัวแทนขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายใต้ Keller Williams Realty International สัญชาติอเมริกา และมีเครือข่ายมากกว่า 43 ประเทศทั่วโลก กล่าวว่า ในต้นปี 2563 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกิดผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากผลกระทบทางจิตวิทยาที่มีสาเหตุมาจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการซื้อที่อยู่อาศัยชะงักลง ซึ่งการแก้ไข ณ ปัจจุบัน หากใช้นโยบายสำหรับเฉพาะภาคธุรกิจอาจจะไม่ได้ผล เนื่องจากเป็นปัญหาระดับมหภาค รัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายอย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหัวใจของเศรษฐกิจ ดังนั้น ควรให้ภาคธุรกิจมีส่วนในการออกความเห็นมากขึ้นกับนโยบายรัฐ เช่น ควรจัดตั้งกรรมาธิการศึกษาผลกระทบในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ภาครัฐเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง
นอกจากนั้น ทุกมาตรการสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษีบุคคลธรรมดา การงดการเก็บเงินประกันสังคม การลดอัตราดอกเบี้ยแบบมีการควบคุมอัตราสินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่ให้มีช่องว่างระหว่างเงินฝากกับเงินกู้มากเกินไป (สเปรดดอกเบี้ย) จะมีผลดีต่อภาคธุรกิจซึ่งจะครอบคลุมไปถึงทุกธุรกิจ จะส่งผลดีกว่าการใช้นโยบายเฉพาะธุรกิจ
“เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น ควรเพิ่มกำหนดราคาของที่อยู่อาศัยที่ได้รับสิทธิการลดค่าโอนและจดจำนอง เป็น 5-10 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมได้มากขึ้น และควรยกเลิกการแทรกแซงตลาดจากมาตรการ LTV แต่ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องให้ทันกับสถานการณ์ ยกตัวอย่าง ในทุกประเทศที่มีผลกระทบจากโควิด-19 ได้มีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างรวดเร็ว เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเลวร้ายลงในช่วงกลางปี 2563”
นอกจากนี้ ในกลุ่มของลูกค้าชาวจีนที่เข้ามาลงทุนและซื้อโครงการคอนโดมิเนียมในไทย ผลจากเรื่องเทรดวอร์ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มที่จะถอยอย่างแรง เนื่องจากระหว่างปี 2560-2561 ยอดขายที่ซื้อโดยลูกค้าชาวจีนมากกว่า 30% ของจำนวนยอดขายทั้งหมดได้หายไปจากตลาด ประกอบกับเงินบาทแข็งค่า กดดันทำให้ลูกค้าชาวจีนลดน้อยลงไปอีก ทำให้ช่วงกลางปี 2562 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ยอดขายล่วงหน้า Presales หดตัวอย่างรุนแรง โดยมีตัวเลขลดลงมากกว่า 50% ยังส่งผลยาวเรื่อยมาถึงปี 2563 ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องเจอปัจจัยรุมเร้ารอบด้าน จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐศึกษาผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ที่ออกมาช่วยกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมาในทุกมิติ
“มาตรการต่างๆ ที่รัฐออกมา ไม่ว่าเรื่อง LTV เรื่องลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือรายการละ 0.01 เปอร์เซ็นต์ ทั้งในกลุ่มต่ำกว่าล้านบาท และขยายมาสู่ตลาดต่ำกว่า 3 ล้านบาท ยังไม่สามารถทำให้ภาพรวมตลาดอสังหาฯอยู่ในภาวะทรงตัวได้ เห็นได้จากการปิดตัวของโครงการที่เพิ่มมากขึ้น มีผลกระทบต่อการจ้างงาน ซึ่งภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มี Supply chain ค่อนข้างกว้าง และอาจจะทำให้ภาครัฐสูญเสียงบประมาณอย่างมาก ดังนั้น ควรจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล หรือยกระดับหน่วยงานที่สำคัญ อย่าง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้มีส่วนในการกำหนดนโยบายอีกทางหนึ่ง.”