“บอร์ด EEC” ไฟเขียวแผนแก้ภัยแล้งภาคตะวันออก
บอร์ด EEC เห็นชอบ 3 มาตรการเร่งด่วน แก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที อีอีซี และแผนระยะยาว พัฒนาและจัดการน้ำต้นทุน 53 โครงการ วงเงิน 52,797 ล้านบาท และบรรจุโครงการ พลังงานแสงอาทิตย์ใน แผน PDP
รายงานจาก ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ระบุว่า ที่ประชุม กพอ. รับทราบ แผนบริหารจัดการน้ำใน อีอีซี โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาของอีอีซี รองรับการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว และแผนระยะสั้น เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2563
มาตรการระยะสั้น 3 มาตรการเร่งด่วน เพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ อีอีซี 1. โครงการสูบน้ำกลับคลองสะพาน มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 1.5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดย East Water ประสานกับกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ 2. โครงการผันน้ำคลองหลวง มายังอ่างเก็บน้ำบางพระ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ 3. โครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 10–35 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งกรมชลประทาน และคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนดได้ลงนาม MOU เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 สามารถเริ่มผันน้ำ 4.3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
และมาตรการเสริม เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีน้ำเพียงพอโดยเฉพาะ ประกอบด้วย 1. ขอให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) จัดทำแผนลดใช้น้ำร้อยละ 10 ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2563
2.โครงการเจรจาซื้อน้ำจากบ่อดินเอกชน เข้าระบบจังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทรา คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยการประปาภูมิภาค ประสานกับ East Water เร่งดำเนินการ 3. โครงการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มายังหนองปลาไหล สามารถผันน้ำ 1 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยกรมชลประทาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 28 กุมภาพันธ์ 2563
4. โครงการวางท่อคลองน้ำแดง เพิ่มการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มาอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 1.3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ส่วนมาตรการ บริหารจัดการน้ำระยะยาว สทนช. ได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของปี 2563 – 2580 ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 – 2580) พัฒนาและจัดการน้ำต้นทุน 53 โครงการ วงเงิน 52,797 ล้านบาท ประกอบด้วย แผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน (Supply Side Management) 38 โครงการ วงเงิน 50,691.10 ล้านบาท เช่น สร้างอ่างเก็บน้ำ คลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำ คลองโพล้ และพัฒนาระบบสูบกลับคลองสะพาน – อ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นต้น
แผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand Side Management) 12 โครงการ วงเงิน 1,927.15 ล้านบาท เช่น แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การประปาส่วนภูมิภาค สาขาต่าง ๆ ปรับระบบการเพาะปลูก เป็นต้น และ มาตรการอื่นๆ การศึกษาจัดทำฐานข้อมูลพัฒนาน้ำบาดาล 3 โครงการ วงเงิน 178.99 ล้านบาท รวมทั้งการผลิตน้ำจืดจากทะเล (Desalination) เตรียมพิจารณาการลงทุนในอนาคตกับภาคเอกชน
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า นอกจากนั้น ที่ประชุม กพอ. เห็นชอบโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่ อีอีซี โดยมอบหมายให้ สกพอ. เสนอกระทรวงพลังงาน นำเข้าบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หารือกับกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดอัตราราคาไฟฟ้าที่เหมาะสม คือ 1. ศึกษา พัฒนา ลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่น ๆ และระบบกักเก็บพลังงาน ในพื้นที่อีอีซี เพื่อบรรลุเป้าหมายสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล ต่อพลังงานแสงอาทิตย์ ในการผลิตไฟฟ้าเป็น 70 : 30
2.ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป้าหมายระยะแรกไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ จำหน่ายในพื้นที่ อีอีซี โดยผสมผสานร่วมกับการทำ การเกษตรในพื้นที่ 3.ให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ออกแบบระบบ วางแผน สร้างกลไกคาร์บอนเครดิต สู่ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบซื้อขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่ อีอีซี ให้เป็นโครงการตัวอย่าง