รัฐบาลกำหนดร่วมทุนแหล่งก๊าซ
ศิริ เผย กลุ่มเชฟรอนฯ และกลุ่มบมจ.ปตท.สผ. ผ่านคุณสมบัติ ประมูลแหล่งก๊าซบงกช- เอราวัณ คาดใช้เวลาอีก 2 เดือน พิจารณาด้านเทคนิค พร้อมระบุ รัฐบาลจะเป็นผู้เลือกหน่วงงานร่วมทุนเอง
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการพิจารณาให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย แปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ G2/61 (แหล่งบงกช) โดยผู้ที่เข้าร่วมประมูลจำนวน 2 กลุ่ม คือกลุ่มเชฟรอนฯ และกลุ่มบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ผ่านคุณสมบัติสำหรับการเปิด 3 ซองข้อเสนอก่อนหน้านี้ และในวันนี้ (8 พ.ย.) คณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้เปิดซองสุดท้าย ซองที่ 4 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านราคาก๊าซธรรมชาติ อัตราส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่เป็นกำไรระหว่างรัฐ และผู้รับสิทธิ สัดส่วนการจ้างพนักงานไทย ที่กำหนดว่าในปีแรกจะต้องจ้างพนักงานคนไทยไม่ต่ำกว่า 80% และเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 90% ในปีที่ 5 รวมถึงเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนรัฐอื่น ๆ
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯจะส่งมอบซองดังกล่าวให้กับคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ เพื่อประมวลผลข้อเสนอในการพิจารณาความสอดคล้องของข้อเสนอในซองที่ 4 กับข้อเสนอทางเทคนิค ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ และการมีสมมติฐานที่สมเหตุสมผล เพื่อสรุปผลหาผู้ที่สมควรได้รับการคัดเลือก โดยจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะนำผลการพิจารณาเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการปิโตรเลียม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป โดยคาดว่าจะประกาศผลผู้ชนะประมูลได้ภายในเดือนธ.ค.61
นายศิริ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุนในแต่ละแหล่งในสัดส่วนราว 25% นั้น รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดคัดเลือกให้หน่วยงานในสังกัดที่มีศักยภาพเข้าร่วมลงทุน แต่ไม่มีความจำเป็นจะต้องสรุปได้พร้อมกับการประกาศชื่อผู้ได้รับคัดเลือก แต่เป็นสิทธิของรัฐในการดำเนินการซึ่งต้องพิจารณาตามความเหมาะสมด้วย โดยเบื้องต้นหน่วยงานรัฐนั้นจะต้องมีพื้นฐานการเงินที่แข็งแกร่ง เพราะต้องใช้เงินเข้าไปร่วมลงทุน ซึ่งคาดการณ์ว่าการเปิดประมูลแหล่งบงกช และเอราวัณครั้งนี้จะทำให้เกิดการลงทุนใหม่ที่มีมูลค่ามากถึง 1.1 ล้านล้านบาทใน 10 ปีข้างหน้า