“กลุ่มปตท.” รายได้ลดลง เหลือเพียง 2.2 ล้านล้านบาท
กลุ่ม ปตท.เผยรายได้รวมปี 62 เหลือเพียง 2.2 ล้านล้านบาท กำไร 92,951 ล้านบาท เตรียมอัดงบลงทุน 900,000 ล้านบาท หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ดัน จีดีพี ขยับร้อยละ 0.2-0.3
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เผยว่า กลุ่มปตท.มีแผนลงทุนปี 5 ปีข้างหน้า ประมาณ 900,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในประเทศ ร้อยละ60 ต่างประเทศร้อยละ 40 ส่วนรายได้รวมของ กลุ่ม ปตท.ในปี 2562 ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท กำไรสุทธิ 92,951 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.2 ของรายได้ ลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตามสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ทั้งนี้เนื่องมาจากผลกระทบของสงครามทางการค้าโลก ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคชะลอตัวและส่งผลให้ส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและราคาน้ำมันดิบ และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับลดลง ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศ เงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการส่งออกและอุตสาหกรรมทั้งภาคการผลิตและภาคขนส่ง ส่งผลให้ปริมาณความต้องการพลังงานและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไม่เติบโตตามเป้าหมาย
ส่วนแผนลงทุนของ ปตท.ในปี 2563 – 2567 ประมาณ 180,814 ล้านบาท และจัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า จำนวน 203,583 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าเงินลงทุนดังกล่าวของกลุ่มปตท.จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยผลักดัน จีดีพี ของประเทศได้ประมาณร้อยละ 0.2-0.3
นอกจากนั้น คณะกรรมการ ปตท.ยังได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจำนวน 2 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล (Payout ratio) ร้อยละ 62.5 ของกำไรสุทธิ และอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ที่ร้อยละ 4.5 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 57,126 ล้านบาท สำหรับผลประกอบการปี 2562 ซึ่ง ปตท. ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.9 บาทต่อหุ้นแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2562 และคงเหลือเงินปันผล 1.10 บาทต่อหุ้นที่คาดว่าจะจ่ายในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ ปตท. ในวันที่ 10 เมษายน 2563
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น ปตท.มีแผนขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานและมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจ LNG อาทิ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 โครงการLNG Receiving Terminal หนองแฟบ และขยายการเติบโตด้วยการลงทุนธุรกิจก๊าซฯ สู่ไฟฟ้า (Gas to Power) โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการดำเนินธุรกิจ LNG แบบครบวงจรและการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาคอาเซียน
ส่วน ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย จะผลักดันกระบวนการผลิตด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวทาง Circular Economy และขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีความชำนาญและได้เปรียบในการแข่งขันไปสู่การลงทุนในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมูลค่าสูง
นอกจากนี้ ในด้านนวัตกรรมและการลงทุนธุรกิจใหม่ ปตท. เตรียมพร้อมพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะ (Smart City Development) โดยเน้นในด้านการบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ที่มีศักยภาพ และจะขยายการเติบโตด้วยการร่วมทุนหรือซื้อกิจการในธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy) อาทิ ธุรกิจไฟฟ้าครบวงจร พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงานและยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
และเพื่อเป็นการแสวงหาโอกาสลงทุนในพลังงานรูปแบบใหม่และสร้างธุรกิจใหม่ ปตท. ได้พัฒนาพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เพื่อสร้าง “วังจันทร์วัลเลย์” ให้เป็นเมืองนวัตกรรมแห่งอนาคตของประเทศไทย สนับสนุนแนวคิดทางด้านนวัตกรรมใหม่ ๆ ผ่านการลงทุนประเภท Prototype เพื่อผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การดำเนินการเชิงพาณิชย์มากขึ้น ได้แก่ การพัฒนาวัสดุปิดแผลจาก ไบโอเซลลูโลสคอมโพสิต เพื่อช่วยเร่งการรักษาบาดแผลด้วยเทคโนโลยีที่เป็นเอกสิทธิ์ของสถาบันนวัตกรรม ปตท. การวิจัยและพัฒนา EV Charger ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้านวัตกรรมของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
รวมถึงการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมรถสามล้อไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป็นต้นแบบยานพาหนะในอนาคต การสนับสนุนการวิจัย “VISBAT” แบตเตอรี่คุณภาพสูงโดย KVIS เพื่อเป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงานต้นแบบสำหรับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และการมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และองค์การเภสัชกรรม ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ให้ต้นทุนยาลดลง และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านยาของรัฐ