“ทีเส็บ”เผยผลการศึกษาการจัดตั้ง “ศูนย์ประสานการอำนวยความสะดวกธุรกิจไมซ์”
ทีเส็บ เผยผลการศึกษาการจัดตั้ง “ศูนย์ประสานการอำนวยความสะดวกธุรกิจไมซ์”ผนึกกำลังภาครัฐ อำนวยความสะดวกการจัดงานไมซ์ครบวงจร
ทีเส็บเดินหน้ายกระดับงาน One Stop Service เป็นระบบถาวร เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ไมซ์ไทย เผยผลการศึกษาการแนวทางการจัดตั้ง “ศูนย์ประสานการอำนวยความสะดวกธุรกิจไมซ์” (One – Stop Service Center for MICE) ก่อนเตรียมเสนอขออนุมัติจากรัฐบาล
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการก ล่าวว่า จากพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สสปน. ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดบทบาทหน้าที่ของทีเส็บให้เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมภาพ ลักษณ์ที่ดีและสร้างโอกาสให้กับประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์ประสานงานกับหน่วยงานอื่นเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องการจัดประชุมและนิทรรศการในประเทศ ประกอบกับในปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา ทีเส็บจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดประชุมและนิทรรศการ ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) ซึ่งเป็นแผนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ ร่วมกันจากการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนในธุรกิจไมซ์ โดยหนึ่งในประเด็นข้อสรุปสำคัญที่เห็นควรดำเนินงานร่วมกัน คือ การปรับปรุงกฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ของภาครัฐให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งทีเส็บได้บรรจุในแผนปฏิบัติการด้านการจัดประชุมและนิทรรศการ ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ ๔ ด้านการพัฒนาระบบนิเวศให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีด้านการปรับสมดุลและการบริหารจัดการภาครัฐ
ในปีงบประมาณ 2563 นี้ ทีเส็บศึกษาโครงการจัดตั้ง “ศูนย์ประสานการอำนวยความสะดวกธุรกิจไมซ์ (One – Stop Service Center for MICE) เพื่อผลักดันและประเมินความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ฯ อย่างเป็น รูปธรรม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่ออำนวยความสะดวกการจัดกิจกรรมไมซ์ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืน และส่งเสริมภาพลักษณ์ธุรกิจไมซ์ โดยวางแผนงานพัฒนาศูนย์ฯ ในรูปแบบเว็บ ไซต์เชื่อมโยงการให้บริการจัดงานไมซ์ผ่านระบบดิจิทัล ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย อาทิผู้จัดงาน เจ้าของงาน และผู้เข้าร่วมงาน สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์
One – Stop Service Center for MICE มีแนวทางดำเนินงานสำคัญ ประกอบด้วย การเชื่อมโยงการให้บริการจัดงานไมซ์ของหน่วยงานภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล เตรียมร่วมลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับระเบียบไมซ์โลจิสติกส์ เช่น กรมศุลกากร, กรมการจัดหางาน, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น โดยส่งเสริมให้มีผู้แทนในการอำนวยความสะดวกอุตสาหกรรมไมซ์ประจำหน่วยงานภาครัฐ การยกระดับไมซ์โลจิสติกส์ด้านการเคลื่อน ย้ายสินค้าเพื่อการจัดงานไมซ์ใน ๑๒ อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจัดทำและเผยแพร่ Prototype Manual ด้านไมซ์โลจิสติกส์ การยกระดับมาตรการส่งเสริมการจัดงานไมซ์ โดยผลักดันให้เกิดมาตรการสิทธิประโยชน์เพื่อสร้างแรง จูงใจให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมไมซ์ และมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดงานไมซ์ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐร่วมปรับปรุงระเบียบและกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการจัดงานไมซ์เป็นการเฉพาะ
ด้าน นายธานินทร์ ผะเอม รองประธานคณะอนุกรรมการประสานงานภาครัฐฯ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีเส็บได้ดำเนินงานเพื่อการอำนวยความสะดวกการจัดงานไมซ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการ สสปน. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานภาครัฐ เพื่อการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและบริการอุตสาหกรรมไมซ์ มีหน้าที่ประสานหน่วยงานภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดงานไมซ์ร่วมกับภาคเอกชน โดยที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการประสานงานภาครัฐฯ ได้ร่วมกันดำเนิน งานเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดงานไมซ์ที่สำคัญของประเทศไทย เช่น งาน The GRAND METALEX, THAIFEX – WORLD OF FOOD ASIA, MEDICAL DEVICES ASEAN รวมทั้งได้จัดทำคู่มือการจัดงานไมซ์ และได้จัดทำเอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าเพื่อการจัดงานไมซ์ ส่งผลให้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมไมซ์ได้รับความสะดวกในการจัดงานไมซ์มากยิ่งขึ้น การผลักดันในการจัดตั้ง One – Stop Service Center for MICE จะเป็นการนำประสบการณ์และผลการดำเนินงานทั้งหมดของคณะอนุกรรมการประสานงานภาครัฐฯ สู่การปฏิบัติจริงอย่างถาวรและยั่งยืน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในเวทีภูมิภาคและโลกต่อไป
นางอาภาพรรณี แสงมุกดา นายด่านศุลกากรท่าอากาศยานหาดใหญ่ กรมศุลกากร ในฐานะผู้แทนกรมศุลกากรในคณะอนุกรรมการประสานงานภาครัฐฯ กล่าวว่า การดำเนินงานในฐานะผู้แทนกรมศุลกากรได้มีส่วนในการสร้างความเข้าใจแก่ภาคเอกชนให้เข้าใจพิธีการศุลกากรมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านการเตรียมการหรือการดำเนินงานในการนำเข้าสินค้า เข้ามาจัดแสดงในอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งกรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมศุลกากรที่ ๒๒๐/๒๕๖๑ เรื่องพิธีการศุลกากรสำหรับการนำเข้าชั่วคราวเพื่อการจัดแสดงสินค้าระหว่างประเทศ หรือการแข่งขันในระดับนานา ชาติ (International Events) ตามประเภท ๓ (ฉ) และ (ญ) ภาค ๔ แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ เพื่อให้การจัดงานไมซ์เป็นไปโดยสะดวก สามารถเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นายภูวกร โตสิงห์ขร นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ กรมการจัดหางาน ในฐานะผู้แทนของกรมการจัดหางานในคณะอนุกรรมการประสานงานภาครัฐฯ กล่าวว่า กรมการจัดหางานตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ในการนำรายได้เข้าประเทศ ในการจัดงานไมซ์ ผู้จัดงานไมซ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรมการจัดหางานในการขออนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจไมซ์ที่เข้ามาจัดงานในประเทศไทย กรมการจัดหางานได้ออกประกาศกรม การจัดหางาน ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ ซึ่งได้กำหนดให้งานจัดประชุม อบรมและสัมมนา ซึ่งมีระยะเวลาทำงานให้เสร็จสิ้นภายในสิบห้าวันให้ถือเป็นงานอันจำเป็นหรือเร่งด่วนหรือเป็นงานเฉพาะกิจตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติมถือเป็นการพัฒนากฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดงานไมซ์
“จากการศึกษาการจัดตั้ง “One – Stop Service Center for MICE” โดยแนวทางความร่วมมือกับภาคีหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไมซ์ เชื่อมั่นว่าจะเป็นทางออกร่วมกันของการลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถอำนวยความสะดวกการจัดงานไมซ์ได้อย่างครบวงจร และเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในระดับนานาชาติได้อย่างยั่งยืน” นายจิรุตถ์ กล่าวสรุป.