กรมศุลฯ ส่ง 5 ม. “อั๊พเกรด” Doing Business
กรมศุลฯผุด 5 มาตรการเด็ด ส่งธนาคารโลก หวัง “อั๊พอันดับ” Doing Business 2021 ด้านการค้าระหว่างประเทศ เผย มี.ค.นี้ จ่อส่งเครื่องเอ็กซ์เรย์รุ่นใหม่อีก 2 ตัว ทำงานร่วมกับของเดิม ย้ำลดเวลาได้ถึง 5 เท่า ประหยัดทั้งเงินและเวลา แถมแก้ปัญหา “คอขวด” ตรวจปล่อยสินค้า
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรเตรียมเสนอ แนวทางการดำเนินงาน 5 มาตรการ เพื่อยกอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ด้านการค้าระหว่างประเทศ (Doing Business 2021 : Trading Across Border) ในช่วงปี 2562 – 2563 ต่อธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ในเร็วๆ นี้ ได้แก่ กระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึงสำหรับของนำเข้า (Pre – Arrival Processing: PAP) การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Payment) การไม่เรียก/ไม่รับสำเนาใบขนสินค้าที่มีในระบบ e-Customs (No Customs Declaration Copy) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพแฟ้มบริหารความเสี่ยงเพื่อลดอัตราการเปิดตรวจ (Risk Management) และระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอ็กเรย์แบบขับผ่าน (DRIVE – THROUGH X-RAY SCANNER)
มาตรการแรก คือ กระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึงสำหรับของนำเข้า (Pre – Arrival Processing: PAP) ซึ่งทำให้ผู้นำเข้าลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการผ่านพิธีการนำเข้า อีกทั้งสามารถยื่นใบขนสินค้าและชำระค่าภาษีอากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง และสามารถติดต่อเพื่อรับสินค้าได้ทันทีเมื่อเรือหรืออากาศยานมาถึง (กรณี Green Line)
มาตรการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมศุลกากรได้เปิดให้บริการระบบ e-Bill Payment โดยผู้ประกอบการสามารถชำระเงินการดำเนินพิธีการทางศุลกากรผ่านช่องทาง Internet Banking, Mobile Banking, ATM, Counter Bank และตัวแทนชำระเงิน โดยมีธนาคารที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 6 ธนาคาร และ 2 ตัวแทนรับชำระ ทำให้ลดเวลา 3 ชั่วโมง/ครั้ง หรือ 3.5 ล้านชั่วโมง/ปี และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับกรมศุลกากร 433.74 บาท/ครั้ง หรือ 513 ล้านบาท/ปี อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถสั่งพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเสียเวลามารับใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากร
มาตรการไม่เรียกไม่รับสำเนาใบขนสินค้าที่มีในระบบ e-Customs (No Customs Declaration Copy) โดยสำนักงานศุลกากร ด่านศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทย และท่าเรือแหลมฉบัง ไม่เรียก/ไม่รับสำเนาใบขนสินค้าในขั้นตอนการตรวจปล่อย ทำให้สามารถลดสำเนาใบขนสินค้าที่ผู้มาติดต่อ/ ผู้ประกอบการต้องพิมพ์ ปีละประมาณ 60 ล้านแผ่น และลดค่าใช้จ่ายกระดาษได้ไม่น้อยกว่าปีละประมาณ 30 ล้านบาท ทั้งนี้ หากพบว่ามีด่านศุลกากรใด หรือผู้ประกอบการรายใดยังคงใช้สำเนาเอกสาร ให้แจ้งกรมศุลกากร เพื่อประสานงานแก้ไขปัญหาต่อไป เนื่องจากจะไม่มีการใช้สำเนาเอกสารอีกแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการลดอัตราการเปิดตรวจ (Risk Based Management on Profile) โดยพัฒนาแฟ้มบริหารความเสี่ยงในการคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และลดอัตราการเปิดตรวจ สำหรับสินค้าที่มัดลวดเพื่อไปตรวจที่คลังสินค้าทัณฑ์บน เขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี เป็นผลให้อัตราการเปิดตรวจโดยเฉพาะสินค้าประเภทชิ้นส่วนรถยนต์ตามพิกัด 87.08 ลดลงจากร้อยละ 37 เหลือร้อยละ 26
และมาตรการสุดท้าย คือ การนำระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์แบบขับผ่าน (DRIVE – THROUGH X-RAY SCANNER) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ยานพาหนะขนส่งสินค้า รวมทั้งยานพาหนะโดยสาร เพิ่มอีก 2 เครื่อง ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวสามารถเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าได้ 150 ตู้/ชั่วโมง ซึ่งมากกว่า X-Ray แบบ Fixed (แบบเดิม) ที่เอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าได้เพียง 30 ตู้/ชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า ทำให้สามารถลดระยะเวลาการติดต่อของผู้ประกอบการลดลง ลดระยะเวลาการเอกซเรย์สินค้า ระยะเวลาการรอคอยและระยะเวลาความแออัด ที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือน มี.ค.ที่จะถึงนี้
“3 มาตรการแรก ถือเป็นมาตรการหลักที่กรมศุลกากรได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมีผลต่อการจัดอับดับ Doing Business ของไทย ซึ่งด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศุลฯ ปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 62 ส่วนอีก 2 มาตรการ ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ คาดว่าหลังจากที่กรมศุลฯ ได้เสนอทั้ง 5 มาตรการไปให้ธนาคารโลกพิจารณาแล้ว อันดับของไทยก็น่าจะดีขึ้นมาก ทั้งในอันดับโลก และอันดับของอาเซียน ซึ่งเรายังเป็นรองสิงคโปร์และมาเลเซีย” โฆษกกรมศุลกากร ระบุ.