กรมศุลฯ เข้ม! จับ “ขนยา-สินค้าอื่น” เฉียดร้อยล.
กรมศุลฯแฉ! เล่ห์นักค้ายาฯข้ามทวีป อาศัย “ไปรษณีย์” รับ-ส่งยา เฉพาะ ม.ค.63 จับ “โคคาอีน-ยาอี-แสตมป์มรณะ-กัญชา” กว่า 2 ล้านบาท พ่วงจับกุมกลุ่ม “สินค้าเกษตร-เนื้อสัตว์แช่แข็ง-น้ำมัน” ด้าน “โฆษกกรมศุลฯ” ย้ำ พร้อมบูรณาการร่วมหน่วยงานอื่น เผยยอดจับกุมกว่า 3,000 คดี รวมมูลค่า 91 ล้านบาท โดยการลักลอบนำเข้ามีสัดส่วนมากถึง 60%
กรมศุลกากรภายใต้การนำของ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเกมรุกปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ด้วยหวังความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด พร้อมหน่วยปฏิบัติการ บูรณาการทำงานร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ส. กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย กอ.รมน. ปปส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่างๆ Interpol DEA เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน
จากนั้น จึงได้วางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้า สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES ด้วยการสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง บ้านเรือน แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงผลจับกุมการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากร หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากรช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า มี 3,270 คดี คิดเป็นมูลค่า 91 ล้านบาท โดยมีคดีลักลอบมากถึงร้อยละ 60 ของมูลค่าทั้งหมด สินค้าที่ลักลอบนำเข้า คือ โคคาอีน ยาอี (เอ็กซ์ตาซี่) บุหรี่ ส่วนสินค้าที่ลักลอบส่งออก ได้แก่ เมทแอมเฟตามีนและเคตามีน
อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลามรางมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการลักลอบ นอกจากนี้ ยังได้บูรณการทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่น ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ
โฆษกกรมศุลกากร ย้ำว่า ในส่วนของยาเสพติดมีการตรวจพบพัสดุต้องสงสัยนำเข้าจากต่างประเทศ (โปรตุเกส และเยอรมัน) ณ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา พบเม็ดยายาเสพติดให้โทษประเภท 1 Ecstasy (ยาอี) 2,260 เม็ด มูลค่า 904,000 บาท ซุกซ่อนอยู่ในป้ายไฟ LED จากนั้น วันที่ 27 ม.ค.ยาเสพติดชนิดเดียวกันอีก 130 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในลำโพง Bluetooth
จากการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น สามารถขยายผลจนตามไปจับกุมยาเสพติดเพิ่มเติม ประกอบด้วยยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ได้แก่ MDMA 50.9 กรัม, LSD (กระดาษเมา หรือแสตมป์มรณะ) 58 ชิ้น และ Ecstasy (ยาอี) 0.7 กรัม นอกจากนี้ ยังมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน 2.5 กรัม และยาเสพติดให้โทษประเภท 5 กัญชาแห้ง อีก 5,030 กรัม รวมมูลค่ายาเสพติดทั้งหมด 2,309,370 บาท
สำหรับการลักลอบนำเข้าในกลุ่มสินค้าเกษตร กรมศุลกากรได้ตรวจยึดการนำเข้าเมล็ดข้าวโพดแห้งสำหรับเลี้ยงสัตว์ 2 ครั้ง ครั้งแรก (1-2 ม.ค.) 14,000 กิโลกรัม และอีกครั้ง (22 ม.ค.) 75,000 กิโลกรัม รถยนต์บรรทุก 5 คัน ทั้ง 2 ครั้งจับได้บริเวรด่านศุลกากรแม่สอด จากนั้น (30 ม.ค.) ได้ตรวจยึดมะพร้าว 6,000 กก. บริเวณริมถนนสายเอเซีย อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และตรวจยึดกระเทียม (31 ม.ค.) อีก 11 กระสอบ ทั้งหมดได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว
ด้านเนื้อสัตว์แช่แข็ง กรมศุลกากรได้ตรวจค้นโกดังประกอบกิจการห้องเย็นแห่งหนึ่ง ใน ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ตามหมายศาล (22 ม.ค.) พบสินค้าประเภทเนื้อและเครื่องในสัตว์ปีกแช่แข็ง กว่า 10 ตัน รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้ตรวจยึดรถบรรทุกน้ำมันบริเวณบริเวณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี (20 ม.ค.) พบน้ำมันดีเซล 30,000 ลิตร มูลค่า 800,000 บาท จึงได้นำของกลางดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.