ศก.มาเลย์ Q4 โต 3.6% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี
กัวลาลัมเปอร์ : เศรษฐกิจมาเลเซียในไตรมาส 4 ของปีที่แล้วเติบโต 3.6% เป็นตัวเลขที่ชะลอตัวต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ จากผลผลิตน้ำมันปาล์ม น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติที่ลดลง และการส่งออกที่ชะลอตัวลงจากสงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน
โดยเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ธนาคารกลางะบุหลังการเผยแพร่ข้อมูลว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกดดันเศรษฐกิจในปีนี้ โดยเฉพาะในไตรมาสแรก
รัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเติบโต 4.8% ในปีนี้ ได้เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านการบิน การค้าปลีก และการท่องเที่ยว เพราะการระบาดเกิดขึ้นในประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย
ตัวเลขการขยายตัวในเดือนต.ค. – ธ.ค.ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ 4.2% จากนักวิเคราะห์ในโพลล์ของรอยเตอร์ และชะลอตัวต่ำกว่า 4.4% ในไตรมาส 3
การเติบโตตลอดทั้งปีอยู่ที่ 4.3% ต่ำกว่าตัวเลข 4.7% จากการคาดการณ์ของรัฐบาล และต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
“ เศรษฐกิจยังได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาคเอกชน และเป็นพัฒนาการเชิงบวกในประเทศของเรา ที่สำคัญกว่านั้น การลงทุนภาคเอกชนอาจพลิกฟื้น” Nor Shamsiah Mohd Yunus ผู้ว่าการธนาคารกลาง (BNM) กล่าวในการแถลงข่าว
“แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านลบ เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่าจะควบคุมการระบาดของไวรัสได้เร็วแค่ไหน แต่เราทราบว่าจะส่งผลกระทบเราในไตรมาสแรก”
ขณะที่ BNM ระบุว่า คาดการณ์ว่าอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างระเทศจะผันผวนในปีนี้
เศรษฐกิจของมาเลเซีย เหมือนกับประเทศอื่นในเอเชีย ที่ถูกกดดันอย่างหนักในปีที่แล้วจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และดีมานด์ทั่วโลกที่อ่อนแรงลง ภาคส่วนเหมืองแร่ได้รับผลกระทบบางส่วน และธนาคารกลางปรับลดดอกเบี้ยลงในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่จีนและสหรัฐฯ ทำข้อตกลงการค้าเฟส 1 ในเดือนม.ค. แต่การระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรนาเพิ่มความเสี่ยงทั่วโลก ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้น
ดีมานด์ในจีนลดลงจากการระบาดที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจ และจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนลดลงเนื่องจากรัฐบาลจีนพยายามควบคุมการระบาดของไวรัส
“ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีหลายมาตรการ เราต้องพิจารณานโยบายที่สนับสนุนภาคเอกชน แต่ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลยังคงมีเสถียรภาพ” Nor Shamsiah Mohd Yunus ผู้ว่าการธนาคารกลางระบุ