สหรัฐฯ ช่วยไทยแก้ปัญหาฝุ่น
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจับมือนักคิดแก้ปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือของประเทศไทย
10 กุมภาพันธ์ 2563 เชียงใหม่ – กลุ่มนักคิดรุ่นใหม่ภายใต้ชื่อทีม “No Grant SMOG” คว้ารางวัลที่หนึ่งในกิจกรรม Smogathon Thailand 2020 ด้วยไอเดียนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับฝุ่นควันสำหรับเด็กระดับประถม องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) โครงการเซอร์เวียร์แม่โขง (SERVIR-Mekong) โครงการ Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI) และกรมควบคุมมลพิษแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงาน “Smogathon Thailand 2020” ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 8 ถึง 10 กุมภาพันธ์ เพื่อสนับสนุนผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอความคิดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย กิจกรรม “แฮ็คคาธอน” เชิญชวนเหล่าคนวัยทำงานรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาชาวิชาชีพ มาร่วมกันคิดหาหนทางแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในระดับประเทศ และภูมิภาค รวมไปถึงระดับจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยีและข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่พัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ อันได้แก่ โครงการเซอร์เวียร์แม่โขง ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง องค์การ USAID และองค์การ NASA, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และกรมควบคุมมลพิษ ในการสังเกตการณ์ ติดตามตรวจสอบ และพยากรณ์คุณภาพอากาศ
“รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับทางรัฐบาลไทยจัดกิจกรรมนี้ขึ้น” กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ นายฌอน โอนีลล์ กล่าว “กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Geospatial Data หรือข้อมูลเชิงพื้นที่ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อพัฒนาความแม่นยำในการสังเกตการณ์และตรวจเฝ้าระวังคุณภาพของอากาศ ผมขอแสดงความยินดีกับนักคิดรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้เพื่อระดมความคิดหาหนทางแก้ไขปัญหา”
หลังจากการเก็บตัวและระดมใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเข้มข้นมาตลอดระยะเวลาสามวัน ทีมผู้ชนะของกิจกรรม Smogathon Thailand 2020 ได้แก่ทีม No grant SMOG ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนิสิตนักศึกษาจากห้าสถาบันในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพฯ นำเสนอความคิดในการออกแบบสื่อให้เด็กนักเรียนชั้นประถมในรูปแบบการเล่าเรื่องโดยสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับฝุ่นและควัน และการป้องกันตัวเพื่อปลุกจิตสำนึก โดยผ่านการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมด้วยการใช้ บอร์ดเกมส์ เพื่อสร้างความเข้าใจและใส่ใจปัญหาฝุ่นควันมากขึ้น เพราะเด็กนักเรียนเป็นกลุ่มที่จะสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับฝุ่นควันได้ง่าย เมื่อเข้าใจแล้วนักเรียนจะเป็นตัวกลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ครอบครัวและคนรอบข้างต่อไป ทีม No grant SMOG จะมีโอกาสได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมที่ปรึกษาจากโครงการ SERVIR-Mekong ของ USAID และ NASA ที่ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Prepaedness Center – ADPC) เพื่อประยุกต์ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในการตรวจวัดคุณภาพอากาศและพัฒนาเครื่องมือการศึกษา
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษ มอบให้แก่ผู้ที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมในหมวดต่างๆ ได้แก่ รางวัลความคิดสร้างสรรค์ดีเด่น (ทีม Air4all) รางวัลด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (ทีม FEU Eliminator) รางวัลการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน (ทีม Smogless ) รางวัลด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (ทีม Potter Innovation) และรางวัลพิเศษจาก True Digital (ทีม Boxcorn) โดยภาคเอกชนเช่นบริษัททรู ดิจิทัล พาร์ค และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลก็ได้ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมครั้งนี้อย่างเต็มที่อีกด้วย
“การรับมือกับปัญหามลพิษทางอากาศต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน” นางจูนิเปอร์ นีลล์ รองผู้อำนวยการ USAID สำนักงานภาคพื้นเอเชีย กล่าว “เราหวังว่ากิจกรรมนี้จะเป็นกิจกรรมต้นแบบที่จุดประกายความร่วมมือทางนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเยาวชนทั้งชาวไทยและในภูมิภาค”
กิจกรรม Smogathon Thailand 2020 ครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากงานครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาและโครงการ YSEALI เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 โดยงานครั้งนั้นส่งผลให้เกิดแนวคิดด้านนวัตกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เตาเผาแบบไร้ควัน หรือการจัดทำเว็บไซต์สำหรับแจ้งเตือนแก่ประชาชนเมื่อเกิดการเผาไหม้ในที่โล่ง.