เหตุจากอีอีซี ครม.ลดภาษี 10% – หักบริจาค 3 เท่า
ให้มากขนาดนี้ “อีอีซี…ต้องเกิด!” ล่าสุด ครม. หนุนคลัง ใช้มาตรการภาษีขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ สั่งลดภาษีนิติบุคคลลง 10% นาน 10 ปี พ่วงหักภาษี 3 เท่า จูงใจเงินบริจาคเข้ากองทุนพัฒนาบุคลากรยุค 4.0 คาดรอบนี้ เงินหลวงหายไม่ต่ำกว่า 120 ล้านบาท
ยังคงเป็นเป้าหมายหลัก ทั้งของ รัฐบาล และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ อย่าง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อหวังจะดึงเอากลุ่มทุนขนาดกลางถึงใหญ่ ทั้งในและนอกประเทศ แต่มากด้วยเทคโนโลยีทันสมัย มาขับเคลื่อนและผลักดันเศรษฐกิจไทยนับจากนี้ไป
ก่อนหน้านี้ รัฐบาล และนายสมคิด รวมถึงรัฐมนตรีเศรษฐกิจอีกหลายคน ต่างเกิดภาวะวิตกกังวลใจกับการที่ ศาลรัฐธรรมนูญ รับพิจารณาปม “เสียบบัตร-ลงคะแนนเสียงแทนกัน” ของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เหตุเกิดขึ้นระหว่างการพิจารณา “รับ-ไม่รับ” ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ตามที่ สภาผู้แทนราษฎรเ สนอไปก่อนหน้านี้
สุดท้าย เมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย 5 : 4 ให้ สภาผู้แทนราษฎร กลับไปลงคะแนนเสียงในวาระที่ 2 และ 3 ใหม่ โดยกำหนดนัดหมายในวันพรุ่งนี้ (13 ก.พ.)
แม้จะต้องลงคะแนนเสียงกันใหม่ แต่ดูเหมือนทั้ง รัฐบาล และนายสมคิด จะมั่นใจสุดๆ ว่า…ที่สุดแล้ว ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะผ่านพ้นไปด้วยดี ดึงขั้นกำหนดนัดหมายห้วงเวลาการใช้จ่ายเงินงบประมาณฯปี 2563 กันแล้วว่า…
ล่วงเข้าสู่เดือน มี.ค.2563 เป็นต้นไป งบรายจ่ายทุกอย่าง…ทั้งรายจ่ายประจำ งบผูกพัน และงบเพื่อการลงทุน จะถูกนำไปกระจายอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปในลักษณะเร่งรัด เนื่องจากผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งปีงบประมาณ 2563 มาแล้ว…นานถึง 5 เดือนเศษ
ทั้งนี้ เพื่อเร่งรัดสารพัดโครงการต่างๆ ที่ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการของส่วนราชการ หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีแผนการลงทุนและขยายงาน
ล่าสุด กับ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (11 ก.พ.) ได้เห็นชอบกับข้อเสนอของกระทรวงการคลัง นั่นคือ การใช้มาตรการทางภาษีไปสนับสนุนโครงการในพื้นที่อีอีซี
โดย นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ ร่างพ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ) เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ : Special Economic Zone) ซึ่งตั้งอยู่ตามแนวชายแดน
กำหนดให้ขยายเวลาการจดแจ้งการขอใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการประกอบกิจการในเขตพื้นที่อีอีซี โดยลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จากอัตรา 20% เหลือ 10% เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับกำไรสุทธิจากรายได้ที่เกิดจากการผลิตสินค้าหรือการให้บริการ และมีการใช้บริการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว กำหนดให้ไว้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ได้จดแจ้งการขอใช้สิทธิการเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตั้งแต่วันที่ พ.ร.ฎ.นี้ใช้บังคับ ถึงวันที่ 30 ธ.ค.2563
คณะรัฐมนตรี ยังเห็นชอบให้มีการ ยกเว้น! ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จ่ายไปในการบริจาคให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ที่สถานศึกษาของรัฐหรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษา ระยะเวลาของมาตรการนี้ เฉพาะที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค.2563
โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในส่วนที่จ่ายไปเพื่อทรัพย์สินที่บริจาคให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ได้เป็นจำนวน 3 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกินกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือไม่เกิน 100 ล้านบาท แล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีลดลงราว 120 ล้านบาท แต่จะสนับสนุนให้มีการบริจาคทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ราว 600 ล้านบาท เพื่อนำไปเงินบริจาคดังกล่าวไปใช้เพื่อการพัฒนาบุคลากรของประเทศในสาขาต่างๆ ต่อไป
“ลดแลกแจกแถม!” มากมายขนาดนี้ ก็หวังใจว่า…สิ่งที่ รัฐบาล และนายสมคิด รวมถึง นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง “ต้นเรื่องของแคมเปญนี้” และได้สู้อุตส่าห์ทุ่มเทในทุกสรรพกำลัง เพื่อผลักดันและดึงดูดกลุ่มทุนที่ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีมาเพื่อการผลิตฯ ในโครงการอีอีซี จะประสบผลสัมฤทธิ์ตามที่คาดหวัง
แต่หากได้ไม่ถึงครึ่งที่คาดหวัง…ประชาชน “เจ้าของเงินภาษี” ยังจะมีทางเลือกใด? ให้ตัดสินใจกันได้บ้าง!.