EXIM ผนึก NEXI หนุน “ทุนยุ่น-ไทย” รุกชาติที่ 3
แม้จะมีความร่วมมือระหว่างกันมาก่อน แต่รอบนี้…น่าจะเป็นทางการ และนำไปสู่การขยายความร่วมมือเชิงรุก ที่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน. หรือ EXIM BANK) และ องค์กรรับประกันแห่งประเทศญี่ปุ่น (Nippon Export and Investment Insurance : NEXI) จะได้ประโยชน์ไปพร้อมกับลูกค้าหลักของพวกเขา
นั่นคือ กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทย และนักลงทุนไทยที่จับมือกับกลุ่มทุนญี่ปุ่น แล้วร่วมกันไปลงทุนในประเทศที่ 3 รวมถึงการลงทุนในพื้นที่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ของไทย
เป้าหมายที่ นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กก.ผจก. EXIM BANK บอกไว้ นอกจากร่วมกันให้บริการประกันการส่งออกและการลงทุน รวมถึงประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ประกันความเสียหายที่คู่ค้าผิดนัดชำระเงิน และอื่นๆ แล้ว ทั้ง 2 องค์กร ซึ่งไม่ถึง 1 ชม.ก่อนหน้านี้ นายพิศิษย์ เพิ่งจะนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการรับประกัน (Insurance) กับ นายอัตสึโอะ คุโรดะ ปธ.และปธ.จนท.บห. NEXI เมื่อช่วงสายวันนี้ (11 ก.พ.) ณ ร.ร.แมนดาริน โอเรียลเต็ล กรุงเทพฯ ยังมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจของ 2 ประเทศให้เข้มแข็ง
รวมถึงส่งเสริมให้กลุ่มทุนญี่ปุ่นและไทย ที่จับมือเข้าไปลงทุนใน กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) ราว 3-4 กลุ่ม ในเซ็กเม้นท์พลังงานและรับเหมาก่อสร้าง มูลค่ารวมกันเกือบหมื่นล้านบาท โดยมีแผนจะเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม ทั้งในกลุ่ม CLMV และลงทุนในประเทศอินเดีย แอฟริกา รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ อีก
เพียงแต่นักลงทุนกลุ่มนี้ จำเป็นต้องได้รับการการันตี เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมา
“ทุกวันนี้ กลุ่มญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทย ต่างรู้สึกมั่นใจในสถานการณ์ของไทย จนไม่จำเป็นจะต้องซื้อบริการประกันภัยความเสี่ยงใดๆ อีกแล้ว นั่นจึงเป็นเหตุผลทำให้ EXIM BANK และ NEXI ต้องจับมือร่วมกัน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นั่นคือ ความคุ้มครองความเสี่ยงจากการลงทุนในประเทศที่ 3 ซึ่งในกลุ่ม CLMV นั้น EXIM BANK ได้รับความเชื่อมั่นอย่างมาก แต่เราจะขยายความคุ้มครองไปไกลกว่านั้น” นายพิศิษฐ์ ระบุ และให้เหตุผลอีกว่า…
ไม่เพียงสร้างโอกาสใหม่ๆ แก่ นักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย และนักลงทุนไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ หากยังเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยและญี่ปุ่น จากการขยายการส่งออกและโครงการลงทุนเพิ่มเติมมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ EXIM BANK ยังรวมมือกับ NEXI ในการ “รับประกันต่อ” (Reinsurance) โดย EXIM BANK จะเป็นผู้รับประกันจากกลุ่มทุนญี่ปุ่นและไทย แล้วส่งต่อให้กับ NEXI ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตในการรับประกันในประเทศไทย โดยสัดส่วนการรับประกันที่เหมาะสม คือ EXIM BANK ควรถือไว้ไม่ควรจะต่ำกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากเป็นการรับประกันความเสี่ยงกับกลุ่มทุนที่อยู่ในประเทศไทย
“ความร่วมมือกับ NEXI และการส่งต่อประกัน ถือเป็นการบริหารและกระจายความเสี่ยงจากการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี” นายพิศิษฐ์ ระบุ และย้ำว่า
การสนับสนุนกลุ่มทุนญี่ปุ่นและไทย ยังมีส่วนช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยฝั่งไทย ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ ของญี่ปุ่น การเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรธุรกิจของญี่ปุ่น การพัฒนาทักษะแรงงาน โดยเฉพาะ SMEs และโอกาสใหม่ๆ ทางการตลาด อาทิ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในญี่ปุ่น ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและญี่ปุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยไม่ต้องกังวลความเสี่ยงจากผู้ซื้อ ประเทศผู้ซื้อ หรือประเทศเป้าหมายที่เข้าไปลงทุน
นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการที่ใช้บริการประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุนของ EXIM BANK สามารถโอนสิทธิในกรมธรรม์ประกันการส่งออกและการลงทุนเป็นหลักประกันในการขอรับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ได้
ยิ่งไปกว่านั้น EXIM BANK และ NEXI ยังมีความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาการส่งออกและการลงทุนของ EXIM BANK ได้เป็นอย่างดี ทำให้ ามารถรับความเสี่ยงในการทำธุรกิจรับประกันได้มากขึ้น ขยายขอบเขตการให้บริการแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยและญี่ปุ่นได้มากขึ้นกว่าเดิม โดยมี NEXI ร่วมรับความเสี่ยงในการสนับสนุนธุรกรรมการส่งออกและการลงทุน
นอกจาก กลุ่มทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยแล้ว นายพิศิษฐ์ ย้ำว่า ตอนนี้ มีอีก หลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่ต้องการร่วมมือกับ EXIM BANK เพื่อใช้ศักยภาพที่ประเทศไทยมี ปูทางขยายฐานการลงทุนในกลุ่ม CLMV อีกด้วย เพียงแต่ตนยังบอกไม่ได้ว่าจะมีกลุ่มไหน? จากประเทศใด? จนกว่าจะมีความชัดเจนเสียก่อน.