อุตสาหกรรมเสื้อผ้ากัมพูชาโตต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของกัมพูชากล่าวชื่นชมและยกย่องระดับการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของภาคส่วนการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้า ถึงแม้จะมีสัญญาณการชะลอตัวลงเล็กน้อยในอุตสาหกรรมนี้
เนื่องจากมีการแข่งขันกันอย่างสูงกับผู้ผลิตจากประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน
จากถ้อยแถลงในงานที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองเนื่องในวันแรงงาน รัฐมนตรีอิธสัมเฮงกล่าวว่าการเติบโตของภาคส่วนการผลิตเสื้อผ้าในกัมพูชายังคงเป็นไปด้วยดี ถึงแม้จะมีการปรับขึ้นค่าแรงของแรงงานก็ตาม
อ้างอิงจากข้อมูลของรัฐมนตรีสัมเฮง อุตสาหกรรมส่วนนี้สามารถสร้างงานให้แรงงานได้ถึง 750,000 คนและสามารถมีรายได้มาจ่ายเงินเดือนแรงงานได้สูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ด้วยค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นประมาณเกือบ 10% เป็น 153 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือนในปีที่แล้ว
“ เมื่อรวมกับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอื่นๆ แรงงานแต่ละคนจะได้ค่าจ้างโดยรวมประมาณ 170 – 181 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน” เขากล่าว
นายวัน ซู เล็ง ประธานสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าแแห่งกัมพูชา ( GMAC) กล่าวว่า อุตสาหกรรมนี้ยังคงเติบโตถึงแม้จะมีการแข่งขันสูงก็ตาม โดยเฉพาะจากเมียนมาและบังคลาเทศ
“ ผู้ซื้อบางรายเปลี่ยนไปสั่งซื้อสินค้าจาก 2 ประเทศนั้น คำสั่งซื้อของเราจึงลดจำนวนลง” เขากล่าว โดยเสริมว่ามูลค่าการส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559
“ เรายังคงอยู่รอดได้ แต่ตัวเลขการเติบโตยังอยู่ในค่าเฉลี่ยเดิมด้วยตัวเลขเติบโดเพียงหลักเดียว”
อ้างอิงจากนายซู เล็ง GMAC ประกอบด้วยผู้ผลิตเกือบ 600 บริษัทด้วยยอดส่งออกมูลค่า 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2559 เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปี 2558 ลดต่ำลงจากตัวเลขการเติบโตเฉลี่ยเดิมคือ 10% ในรอบหลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เขาได้เพิ่มการเติบโตให้กับภาคส่วนนี้โดยการเริ่มขยายการส่งออกสินค้าท่องเที่ยวไปสหรัฐฯ ที่ได้รับสิทธิพิเศษปลอดภาษีในเดือนก.ค.ปีที่แล้ว โดยเขากล่าวว่า มีผู้ผลิตสินค้าท่องเที่ยวที่กำลังจดทะเบียนในกัมพูชาถึง 27 แห่งในปัจจุบัน
“ ผู้ผลิตบางรายกำลังสร้างโรงงานซึ่งจะเปิดดำเนินการเร็วๆนี้ มูลค่าการส่งออกของสินค้าท่องเที่ยวที่ผลิตในกัมพูชาจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในอนาคตอันใกล้นี้ ” เขากล่าว อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้ายังคงมีสัดส่วนสำคัญในการส่งออกของกัมพูชา อ้างอิงจากสัดส่วนที่มากกว่า 10% ของตัวเลขจีดีพีของประเทศ
โฆษกหญิงของกระทรวงพาณิชย์รายงานเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ว่า ผู้ผลิตในประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างเมียนมาและบังคลาเทศเป็นคู่แข่งที่ท้าทายสำหรับกัมพูชา แต่ยังคงจัดการได้
โดยเธอกล่าวว่ากัมพูชาจะยังคงมีการเติบโตในอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าในระยะกลาง โชคดีที่สหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลง TPP ซึ่งเอื้อประโยชน์กับคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม
“ เมื่อไรที่สินค้าของเรายังสามารถส่งออกไปขายที่ตลาดที่เข้าถึงได้โดยปลอดภาษี เราก็ยังคงเติบโตอยู่”.