“งบฯช้า-แพร่โคโรน่า” บล็อก “ชิมช้อปใช้ 4”
ปม “งบฯปี’63 ล่าช้า – ไวรัสโคโรน่าระบาด” กระทบแผนคลอด “ชิมช้อปใช้” เฟส 4 ด้าน “อุตตม” ยอมรับ อนาคตอาจมีภาคต่อ เหตุไม่อาจวางใจเศรษฐกิจโลก เผยความสำเร็จ เฟส 1-3 คือ “ต่อยอดโครงข่ายการเงินดิจิทัล – ฐานข้อมูล 12 ล้านคน” ขณะที่ เอ็มดีแบงก์กรุงไทยเชื่อ! ระบบที่ดีไซน์ไว้ รองรับ “Top Up” ซื้อประกันภัยเพิ่มเติมให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้แน่!
ความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 บวกกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก MP 2.5 ที่กลับมาคุกคามกรุงเทพฯและจังหวัดรอบนอก รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 จากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ส่งผลกระทบอย่างแรงต่อแผนการคลอดมาตรการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 4 ที่เน้นกระตุ้นส่งเสริมการใช้จ่าย ผ่านการท่องเที่ยวภายในประเทศ
หากเพียงแค่ปัญหา MP 2.5 อย่างเพียงลำพังแล้ว เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS เชื่อว่า…รัฐบาลคงเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 4 ในเร็วๆ วันอย่างแน่นอน แต่ทว่าเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ ที่ดูเหมือนจะเป็น “2 โจทย์หิน” สำคัญ ทั้งปัญหาความล่าช้าของงบประมาณฯ ปี 2563 และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า
ก็ไม่น่าแปลกใจ! เหตุใด นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง จึงให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ในวันปิดโครงการ “จับรางวัลแจกโชค” กับ “ชิมช้อปใช้” เฟส 1 -3 เมื่อช่วงสายวันนี้ (3 ก.พ.2563) ที่กระทรวงการคลัง ทำนอง…
“ตอนนี้เรายังไม่มีแผน และไม่ได้กำหนดว่าจะเสนอรูปแบบของ “ชิมช้อปใช้” เฟส 4” ออกมาอย่างไร ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาหารูปแบบที่เหมาะสม เชื่อว่าในอนาคตอาจจะมี “ชิมช้อปใช้” ตอนต่อไปก็ได้”
ถามว่าทำไมต้องมี? นี่คือการตั้งคำถามและตอบเองเสร็จสรรพของ รมว.คลัง ที่บอกว่า…กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด เห็นว่า…เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ดี จากความคลี่คลายของปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน
แต่กระนั้น ก็ยังวางใจไม่ได้ เพราะคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร กว่าที่ความต้องการในระดับเศรษฐกิจโลกจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ก็มีปัจจัยลบอื่นๆ แทรกเข้ามา โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโคร่าน่าฯ และปัญหาความล่าช้าของงบประมาณฯปี 2563
“ทั้งหมดนี้ ชี้ถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาถึงมาตรการที่เหมาะสมออกมาเพิ่มเติม” นายอุตตม ย้ำและว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ มาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การดูแลผู้ประกอบการ SMEs ผ่านสินเชื่อพิเศษ มาตรการดูแลพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ และล่าสุด กับมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เป็นต้น
สำหรับมาตรการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวนั้น ล่าสุด กระทรวงการคลังเห็นสมควรจะออกมาตรการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว โดยจะหารือถึงแนวทางความช่วยเหลือที่เหมาะสม ทั้งในเชิงอุปสงค์ หรือความต้องการของตัวนักท่องเที่ยวเอง และในเชิงอุปทาน เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ต้องการจะปรับปรุงสถานที่ หรือรูปแบบการให้บริการของแหล่งท่องเที่ยว ได้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อการนี้ ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
ทั้งนี้ การกระตุ้นการท่องเที่ยวจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงสร้างการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คงต้องรอให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาถึงความเหมาะสมของมาตรการดังกล่าวเสียก่อน
ด้านมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ที่เพิ่งปิดโครงการ “จับรางวัลแจกโชค” ไปนั้น รมว.คลัง ยืนยันว่า สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ และถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เพราะมีการใช้จ่ายในมาตรการนี้ มากถึงเกือบ 29,000 ล้านบาท
(ตัวเลขการใช้จ่ายในมาตรการ เฟส 1-3 ที่ระบุในเอกสารข่าว เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2563 คือ 2.69 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังเคยตั้งเป้าหมายการใช้จ่ายผ่านกระเป๋า 1 (G – Wallet 1) และ กระเป๋า 2 (G – Wallet 2) ไว้ถึง 60,000 ล้านบาท ซึ่งสูงตัวเลขการใช้จ่ายจริง ผ่านทั้ง 2 กระเป๋า กว่า 3.3 หมื่นล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 55 เลยทีเดียว)
ส่งผลข้างเคียงต่อความหวังของประชาชนและผู้ประกอบการ สะท้อนภาพที่ว่ารัฐบาลมีมาตรการที่เหมาะสมออกมาดูแล ส่งเสริมและสนับสนุนคนใน 2 กลุ่มนี้ ไม่เพียงแค่ ยังมีความสำเร็จอื่นๆ ที่ตามมา โดยเฉพาะการใช้มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ไปเพื่อต่อยอดโครงข่ายทางการเงิน ดิจิทัล (National e-Payment) ก่อให้เกิดการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกทั้งทำให้รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังและธนาคารกรุงไทย ได้มีโครงข่ายและข้อมูลของผู้ที่เข้าร่วมโครงการมากถึง 12 ล้านคน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลในอนาคต หากจะออกนโยบายหรือมาตรการที่สามารถจะตอบโจทย์ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการได้ตรงจุดอย่างมีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้น
ด้าน นายพยง ศรีวณิช กก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ผู้พัฒนาซอฟแวร์รองรับมาตรการ “ชิมช้อปใช้” และมีส่วนขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวกับ เว็บไซต์ AEC10NEWS ว่า ระบบและข้อมูลที่ธนาคารกรุงไทยจัดเก็บเอาไว้นั้น สามารถจะไปเชื่อมโยงกับข้อมูลและการดำเนินงานในโครงการอื่นๆ ของภาครัฐ
เช่น หากรัฐบาลต้องการจะผลักดันมาตรการในการดูแลสวัสดิภาพของประชาชน ด้วยการจัดระบบประกันภัยขั้นพื้นฐาน (ประกันชีวิตและสุขภาพ) ให้กับประชาชนฐานราก ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีราว 14.6 ล้านใบ ก็สามารถจะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลที่ธนาคารกรุงไทยมีได้ในทันที
ทั้งนี้ ผลประโยชน์ใดๆ ที่รัฐบาลจะมอบให้กับประชาชนกลุ่มนี้ ไม่จำเป็นจะต้องออกมารูปของตัวเลข (เม็ดเงิน) เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงโอกาสและผลประโยชน์อื่นๆ ที่จะพึงมี โดยหากระบบประกันภัยพื้นฐานที่รัฐบาลมอบให้ ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ก็สามารถจะซื้อระบบประกันภัยอื่นๆ (Top Up) เพิ่มเติมได้ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การจับรางวัล “ชิมช้อปใช้ลุ้นโชคใหญ่” ในรอบสุดท้าย มีการแจกรางวัลใหญ่รถยนต์ Toyota Altis (limo) มูลค่า 829,000 บาท และรถกระบะ Toyota Hilux Revo มูลค่า 595,000 บาท ให้กับผู้ใช้จ่ายผ่านกระเป๋า G – Wallet 2 ระหว่างวันที่ 27 ก.ย. 2562 – 31 ม.ค. 2563 โดยมีจำนวนสิทธิ์ในการลุ้นรางวัลในครั้งนี้กว่า 12 ล้านสิทธิ์ จากยอดการใช้จ่ายกว่า 17,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลอื่นๆ แบ่งเป็นรางวัลของผู้ใช้จ่ายผ่านกระเป๋า G – Wallet 2 อีก74 รางวัล ประกอบด้วย รถมอเตอร์ไซค์ Honda New PCX150 จำนวน 2 รางวัล TV Sumsung TV55RU7400 จำนวน 4 รางวัล ทองคำหนัก 1 บาท 8 รางวัล และทองคำหนัก 50 สตางค์ 58 รางวัล และเป็นรางวัลสำหรับร้านค้าอีก 17 รางวัล ได้แก่ ทองคำหนัก 1 บาท 2 รางวัล และทองคำหนัก 50 สตางค์ 15 รางวัล โดยตลอดระยะเวลาของโครงการ มียอดการใช้จ่ายกว่า 28,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าแรกประมาณ 11,500 ล้านบาท และผ่านกระเป๋า G – Wallet 2 กว่า 17,000 ล้านบาท จากประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ทั้งสิ้น 12.6 ล้านคน และมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 170,000 ราย
สำหรับผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลรถยนต์ Toyota Altis (limo) ได้แก่ คุณเสถียร วิไพบูลย์ และรางวัลรถกระบะToyota Hilux Revo ได้แก่ คุณธานินทร์ มะโร ส่วนรางวัลอื่นๆ สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ทาง www.ชิมช้อปใช้.com ซึ่งผู้โชคดีที่ได้รับรางวัล นำหลักฐานมาแสดงเพื่อรับรองภายใน 30 วัน นับจากวันที่ประกาศรายชื่อผู้โชคดี
ทั้งนี้ โครงการชิมช้อปใช้ เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ และกระจายรายได้สู่ฐานรากของประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับประชาชนในการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันสังคมไร้เงินสด ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล.