“สุริยะ” เข้มตรวจ PM 2.5 โรงงาน 6,104 ทั่วประเทศ
รมว.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่ ตรวจสอบโรงงานปล่อยฝุ่น PM2.5 และสั่งตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงจำนวน 6,104 แห่ง ทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงงานที่มีการใช้พลังงานจากหม้อน้ำและหม้อต้มซึ่งมีกว่า 13,000 เครื่องทั่วประเทศ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันนี้(29 ม.ค.63)ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงาน 2 แห่ง ที่มีหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน คือ บริษัทไมลอทท์ แลบบอราทอรี่ จำกัด ตั้งอยู่ที่ถนนเทพารักษ์ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ประกอบกิจการผลิตเครื่องสำอาง น้ำหอมปรับอากาศ และเครื่องเสริมความงามอื่นๆ เช่น สบู่ วัสดุสังเคราะห์สำหรับซักฟอก แชมพู ผลิตภัณฑ์สำหรับโกนหนวด ผลิตภัณฑ์ สำหรับชำระล้างหรือขัดถูเกี่ยวกับเคมีอย่างใด อย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น น้ำยา ผง ผงเคมี ครีม ใยทำความสะอาดพื้น ผนัง ห้องครัว ห้องน้ำ สุขภัณฑ์ การทำยาฆ่าเชื้อโรค ยาดับกลิ่น การทำคราม เป็นต้น
ทั้งนี้บริษัทไมลอทท์ จะให้บริการทุกกลุ่มลูกค้า ตั้งแต่ Start-up ไปถึงบริษัทข้ามชาติ (Multinational Company) ผลิตสินค้าสำหรับทั้งในประเทศ และส่งออกไปมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ส่วนกระบวนการผลิตบริษัทยังได้เปลี่ยนระบบหม้อต้ม (Boiler) จากการใช้น้ำมันเตา เป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดแอลพีจี ซึ่งมีประสิทธิภาพการเผาไหม้สูง ไม่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง พร้อมทั้งยังจัดให้มีการใช้รถดูดฝุ่น และฉีดพรมน้ำบริเวณถนนด้วยน้ำที่นำกลับมาใช้ซ้ำ (Re-use) ซึ่งบำบัดมาจากน้ำเสียจากกระบวนการผลิต มีการตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ภายในบริษัท และที่สำคัญบริษัทประกาศพร้อมจะตอบสนองนโยบายของรัฐ สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโรงงานต้นแบบที่ประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างแท้จริง
จากนั้นได้เดินทางไปยังบริษัท แปซิฟิค เวิลด์ อัลลอย จำกัด อำเภอบางพลี จังหวัด สมุทรปราการ ซึ่งประกอบกิจการหลอมหล่ออลูมิเนียม เช่น วัตถุดิบเศษชิ้นส่วนยานยนต์ เช่นหม้อน้ำ เสื้อสูบฝาสูบรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ อลูมิเนียมแท่ง(ingot) ซึ่งมีกำลังการผลิต 2-3 ตันต่อวัน ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเตาทำการหลอมวันละ3-4 ชั่วโมง โดยมีระบบบำบัดโดยการสเปรย์น้ำและพ่นลงน้ำก่อนระบายอากาศออกปล่องระบายอากาศ ความสูงปล่อง 20 เมตร ในอดีตเคยมีเรื่องร้องเรียน กลิ่น ฝุ่น ควัน แต่ปัจจุบันปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดโดยสร้างใหม่ แทนชุดเดิมทั้งหมด ซึ่งถือเป็นความตั้งใจที่ดีในการแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการ
และได้กำชับให้บริษัทฯ ดำเนินการตรวจสอบ และซ่อมบำรุงการ เผาไหม้เชื้อเพลิงของหม้อน้ำให้มีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์, ตรวจสอบและซ่อมบำรุงระบบขจัดมลพิษอากาศให้มีขนาดและประสิทธิภาพเพียงพอ, ศึกษาการเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงให้เป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น, จัดทำมาตรการป้องกันเขม่าควันและไอระเหยของสารเคมีจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของหม้อน้ำ และตรวจวัดคุณภาพอากาศของปล่องระบายอากาศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร อีกทั้งยังช่วยลดปัญหามลพิษ และยังช่วยให้บริษัทประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนได้อีกด้วย
ในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐที่ร่วมคณะในการตรวจสอบโรงงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ นายอัครวัฒน์ อัศวเหม นายยงยุทธ สุวรรณบุตร นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ และร้อยเอก ดร.จองชัย วงศ์ทรายทอง นำข้อมูลเหล่านี้ไปขยายผลโดยจะกำชับผู้ประกอบการโรงงานในเขตพื้นที่ของตนต่อไป
อย่างไรก็ดี กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการตรวจสอบ และติดตามสถานการณ์โรงงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สามารถก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 จำนวน 6,104 แห่งทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นโรงงานที่มีการใช้พลังงานในหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนและอุปกรณ์การเผาไหม้อื่น ๆ ซึ่งมีจำนวนอุปกรณ์เหล่านั้นรวมกันกว่า 13,629 เครื่องทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันเตา, น้ำมันดีเซล, น้ำมันก๊าด, ก๊าซธรรมชาติ, แอลพีจี, ชีวมวล และถ่านหิน เป็นต้น แบ่งเป็น
โรงงานภาคกลาง 3,338 แห่ง, ภาคเหนือ 286 แห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 513 แห่ง, ภาคตะวันออก 1,148 แห่ง, ภาคตะวันตก 324 แห่ง และภาคใต้ 495 แห่ง ส่วนใหญ่ฝุ่นละออง PM2.5 จะเกิดจากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานในหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนและอุปกรณ์การเผาไหม้อื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, โรงสีข้าว, ผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้ง, การฟอกย้อม, การเกษตรแปรรูป, เคมีภัณฑ์, การแปรรูปไม้, สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น.