กยศ.ดูดลูกหนี้หัก ง/ด. 1.8 ล.คน สิ้นปี’ 64
กยศ.ผนึก กสศ. ลดปัญหาซ้ำซ้อนให้ทุนเด็กยากจน-ด้อยโอกาส พร้อมสร้างโอกาสใหม่ให้เด็กไทย ยันงบฯปี’63 ล่าช้าไม่กระทบแผนงาน ด้าน “ชัยณรงค์” ย้ำ กยศ.มีรายได้เกินรายจ่ายปีละ 5,000 ล้านบาท เหตุจากลูกหนี้ร่วมโครงการหักเงินเดือนเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าเพิ่มอีก 4 แสนคนในปีนี้ และเพิ่มอีก 1 ล้านคนในปี’64
ปัญหาซ้ำซ้อนจากการขอรับทุนการศึกษาในประเทศไทย..มีแนวโน้มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น พร้อมกับการสร้างโอกาสทางการศึกษา และเพิ่มศักยภาพการช่วยเหลือเด็กยากจนื หลังจากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา (กสศ.) จับมือลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและดำเนินงานร่วมกัน ระหว่าง 2 องค์กรข้างต้น ที่กระทรวงการคลัง เมื่อช่วงสายวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา
นายสุภกร บัวสาย ผจก. กสศ. กล่าวว่า กสศ.เน้นช่วยเหลือเด็กยากจน ระดับประถมศึกษาถึงการศึกษาภาคบังคับ ช่วงอายุไม่เกิน 15 ปี แต่ละมีจะมีเด็กในความรับผิดชอบ 8-9 แสนคน ใช้งบประมาณราว 5,000 ล้านบาท ขณะที่ กยศ. เน้นช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ อายุ 15-25 ปี ดูแลต่อจากที่ กสศ.ทำ คือ ระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี โดยสามารถรับต่อกลุ่มเป้าหมายจาก กสศ. โดยไม่ต้องสอบทานข้อมูลแต่อย่างใด
โดยความร่วมมือครั้งนี้ ยังรวมถึงความร่วมมือด้านวิชาการที่ กสศ.ดำเนินการเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาตัวแบบนำสู่การขยายผล และเสนอเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กศย.ก็น่าจะนำไปข้อมูลวิชาการไปใช้ประโยชน์ได้
ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผจก.กยศ.กล่าวว่า กยศ.ดูแลกลุ่มเป้าหมายปีประมาณ 6 แสนคน ใช้งบของกองทุนฯราว 2.6 หมื่นล้านบาท โดยปี 2562 ที่ผ่านมา ได้รับชำระหนี้คืนมา 3.1 หมื่นล้านบาท เกินกว่าเงินให้กู้แต่ละปีราว 5,000 ล้านบาท คาดว่าในปี 2564 จะมีการรับชำระหนี้คืนไม่ต่ำกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำไห้ กสศ.ประสบความสำเร็จ เพราะสื่อมวลชนช่วยเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล จนทำให้ลูกหนี้กลับเข้ามาสู่ระบบ
อีกทั้งการที่ กยศ.ร่วมกับองค์กรนายจ้าง โดยรับข้อมูลที่ได้รับจากสำนักงานประกันสังคมและกรมสรรพากร ทำให้จำนวนผู้ยอมให้หักเงินกู้ฯจากบัญชีเงินเดือนมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งปี 2562 มีผู้เข้าร่วมโครงการหักเงินจากบัญชีเงินเดือนราว 4 แสนคน วงเงินราว 10,000 ล้านบาท คาดว่าปี 2563 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 4 แสนคน โดยมั่นใจว่าภายในปี 2564 จะดึงคนกลุ่มนี้ ซึ่งมีทั้งสิ้น 1.8 ล้านคน เข้าโครงการฯได้อย่างแน่นอน ซึ่งช่วยลดปัญหาหนี้เสียได้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
ส่วนประเด็นความล่าช้าของงบประมาณฯ ปี 2563 นั้น ผู้บริหารทั้ง 2 องค์กรยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก โดยที่ นายชัยณรงค่ ย้ำว่า กยศ.ใช้งบกองทุนฯ โดยไม่พึ่งเงินงบประมาณ และมีกำไรจากการดำเนินงาน กล่าวคือ รับคืบเงินกู้มากกว่าปล่อยกู้ใหม่ ขณะที่ สัดส่วนกลุ่มเป้าหมายมีแนวโน้มลดลง จากจำนวนประชากรที่ลดลง
ขณะที่ นาสุภกร กล่าวว่า กสศ.มีรอบการใช้เงินอยู่ในช่วงการเปิดและปิดเทอม ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงบประมาณก็ช่วยเหลือในการจัดสรรงบประมาณในช่วงเทอมการศึกษาที่ 2 ของปีการศึกษานี้ คาดว่า กว่าจะถึงเทอมแรกของปีการศึกษาหน้า ปัญหาของ พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 คงจะคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม หากงบประมาณปีฯ 2563 มีปัญหาจนไม่สามารถนำมาใช้ได้ทัน ทางสำนักงบประมาณ คงจะจัดสรรเงินในส่วนนี้ มาให้กับ กสศ.อย่างแน่นอน.