ส.อ.ท.หนุนใช้ B10 ลดปัญหา PM 2.5
ส.อ.ท. หนุนภาคขนส่งใช้ดีเซล B10 ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 พร้อมส่งเสริมแนวทางโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตามที่กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน กำหนดให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศ นั้น ส.อ.ท. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้น้ำมันดีเซล B10 จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2562 พบว่า ปัญหามลพิษที่เกิดจากฝุ่นละออง PM 2.5 ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาไหม้ในที่โล่ง และการจราจรที่หนาแน่นในพื้นที่เขตเมือง
ดั้งนั้น การสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล B10 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานหากผู้บริโภคร่วมกันใช้น้ำมัน B10 ทั้งหมด จะช่วยลดมลพิษได้ 3.5-13% นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 ถือเป็นมาตรการที่สำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน
และยังแก้ปัญหาปาล์มล้นตลาด ด้วยราคา B10 ที่ถูกกว่า B7 ลิตรละ 2 บาท จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันดีเซล B10 จำนวน 723 แห่งทั่วประเทศ และมีแนวทางในการขยายสถานีบริการให้มากขึ้น โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรถยนต์ที่สามารถเติมน้ำมันดีเซล B10 ได้ที่เว็บไซต์ของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน (www.doeb.go.th) หรือศูนย์บริการของค่ายรถยนต์ทั่วไป
นอกจากนี้ ส.อ.ท. โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อยู่ระหว่างการหารือแนวทางการสนับสนุนโครงการการปรับปรุงสภาพเครื่องยนต์ ทั้งการหา Model และหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการฯ อาทิ การสนับสนุนค่าแรง การเปลี่ยนอะไหล่ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เพื่อให้รถยนต์มีการปล่อยมลพิษโดยเฉพาะฝุ่นละออง PM 2.5 ลดลง
รวมถึงการขอความร่วมมือไปยังสมาชิกในการดูแลความสะอาดและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ภายในโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น ดูแลตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ และเลือกใช้เชื้อเพลิงสะอาด รวมถึงตรวจสอบวิเคราะห์แหล่งกำเนิดฝุ่น เพื่อเพิ่มมาตรการในการตรวจติดตามและป้องกันอย่างใกล้ชิด
ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้มีการผลักดันและส่งเสริมให้สมาชิกโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินงานตามแนวทางโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) โดยเป็นมาตรการที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกลไกลสำคัญในการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษของทางภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน.