มูดีส์หั่นเรตติ้งฮ่องกง จากการรับมือการประท้วง
สถาบันให้บริการนักลงทุนมูดีส์ลดระดับเรตติ้งฮ่องกง โดยชี้ให้เห็นถึงความกังวลในแผนการที่ขาดประสิทธิภาพของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการประท้วงนานถึง 7 เดือน นับเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับชื่อเสียงของฮ่องกงในฐานะฮับธุรกิจของเอเชีย
โดยมูดีส์หั่นเรตติ้งรัฐบาลฮ่องกงลงหนึ่งระดับจาก Aa2 ลงมาอยู่ที่ Aa3 กลายเป็นสถาบันแห่งที่ 2 ที่ลดอันดับฮ่องกง โดยในเดือนก.ย.ปีที่แล้ว Fitch Ratings ลดอันดับฮ่องกงลงจาก AA+ ลงมาอยู่ที่ AA
“การลดอันดับสะท้อนถึงมุมมองของมูดีส์ที่มีต่อความเป็นสถาบันของฮ่องกงและความแข็งแกร่งของรัฐบาลว่าลดลงกว่าที่เคยประเมินก่อนหน้านี้ ” Marie Diron กรรมการผู้จัดการกลุ่มวิเคราะห์ความเสี่ยงของมูดีส์ และ Martin Petch รองประธานและเจ้าหน้าที่อาวุโสของกลุ่มวิเคราะห์ความเสี่ยงระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 20 ม.ค.
มูดีส์ระบุว่า การขาดแผนการที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลในการรับมือกับหลายประเด็น โดยเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบของสังคมอาจสะท้อนศักยภาพที่อ่อนแอลงกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้
สถานบันจัดอันดับแห่งนี้เสริมว่า แม้หลักการปกครอง ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ จะมีการบังคับใช้กับฮ่องกงมานานกว่าสองทศวรรษ แต่ยังขาดความชัดเจนว่ารัฐบาลจะรับมือกับประเด็นทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างไร โดยเฉพาะกับการประท้วง ที่เขย่าความคิดเห็นของประชาชนได้มากกว่าที่เคย
Fitch เองก็แสดงท่าทีข้องใจกับหลักธรรมาภิบาลของฮ่องกงภายใต้หลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ท่ามกลางการประท้วงที่ดำเนินอยู่
“ความเปลี่ยนแปลงในความเป็นสถาบันของเขตปกครองพิเศษก่อให้เกิดความเสี่ยงถึงผลกระทบเชิงลบจากรัฐบาลต่างชาติที่มีต่อความสามารถในการแข่งขันและความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ และบั่นทอนประสิทธิภาพของรัฐบาล” มูดีส์ระบุ โดยยกตัวอย่างถึงกรณีที่สภา คองเกรส สหรัฐฯ ผ่านกฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของฮ่องกงในปี 2562
หลังจาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามรับรองกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯจะมีการทบทวนรายปีถึงความเปลี่ยนแปลงในเขตบริหารพิเศษแห่งนี้ในด้านสถานะทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯกับฮ่องกงได้
อย่างไรก็ตาม มูดีส์ยกระดับแนวโน้มจาก ‘เชิงลบ’ ขึ้นมาเป็น ‘เสถียร’ ซึ่งสะท้อนถึง “ความแข็งแกร่งด้านงบประมาณ และความมีเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาค” โดยเสริมว่า คาดการณ์ว่าความแข็งแกร่งที่ฮ่องกงมีจะทำให้ฮ่องกงก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาของความผันผวนจากความอ่อนแรงหรือการเติบโตของ GDP ในด้านลบ ทั้งนี้ แนวโน้มของฮ่องกงถูกลดระดับลงในเดือนก.ย.ปีที่แล้ว
รัฐบาลฮ่องกงระบุว่า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 1.3% ในปี 2562 หลังจากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 3 เนื่องจากการท่องเที่ยวและค้าปลีกถูกกระทบอย่างหนักจากการประท้วง
ขณะที่มีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาตั้งแต่เดือนส.ค. ปีที่แล้ว แต่มูดีส์ระบุว่า ไม่คาดว่ามาตรการจะมีประสิทธิภาพเพียงพอ
ในเดือนธ.ค. รัฐบาลประกาศมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ( 15,880 ล้านบาท ) โดยตั้งเป้าเพื่อช่วยเหลือบริษัทเล็กๆให้รับมือกับเศรษฐกิจที่ถดถอย มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการสำคัญจากแผนการที่รัฐบาลให้ไว้จำนวน 21,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ( 83,370 ล้านบาท ).