หนุ่มสาวเกาหลีใต้ติวเข้ม หวังพิชิต AI จ้างงาน
โซล (รอยเตอร์) – เกาหลีใต้เป็นประเทศที่หมกมุ่นกับการกวดวิชา บรรดานักเรียนนักศึกษาขวนขวายหาคอร์สติวเข้มกับทุกอย่าง ตั้งแต่การไปออดิชั่นเคป๊อบไปจนถึงการขายอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบัน หลายบริษัทชั้นนำเริ่มใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในการจ้างงาน ทำให้บรรดาหนุ่มสาวที่หางานทำต้องเรียนรู้ที่จะชนะใจ AI เหล่านี้
พัคซงจุง ที่ปรึกษาอาชีพให้สัมภาษณ์จากออฟฟิศ People & People ชั้นใต้ดินในย่านกังนัมว่า ธูรกิจของบริษัทเขาเติบโตจากการเปิดสอนการรับมือกับการรับสมัครงานผ่านจอคอมพิวเตอร์กับ AI ไม่ใช่การสัมภาษณ์งานกับคนอีกต่อไป โดยการสัมภาษณ์ผ่านจอ ใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในการวิเคราะห์บุคลิกของผู้สมัครเป็นสำคัญ
“ อย่ายิ้มแค่ปากเท่านั้น ต้องยิ้มมาจากดวงตาของคุณ” เขาสอนนักศึกษาที่มองหางานในคลาสการสอนปัจจุบันของเขา ให้เอาใจใส่กับการยิ้ม
มีการประเมินว่า 8 ใน 10 ของนักศึกษาชาวเกาหลีใต้เคยใช้บริการโรงเรียนกวดวิชา ทำให้อุตสาหกรรมเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยผู้ประกอบการอย่างพัคระบุว่า บริษัทที่ปรึกษาของเขา จัดแพ็คเกจคลาสการเรียน 3 ชั่วโมงในราคา 1 แสนวอนหรือราว 3,484 บาท
“AI จะไม่ถามคำถามอย่างเป็นธรรมชาติ” ยูวอนแจ วัย 26 ปี ซึ่งกำลังมองหางานในอุตสาหกรรมโรงแรมระบุ “ทำให้ผมรู้สึกไม่สบายใจนิดหน่อย ผมจะลงเรียนติวสัมภาษณ์งานกับ AI ” โดยเขาให้สัมภาษณ์ในย่านนอรยังจิน ในกรุงโซล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น ‘หมู่บ้านเพื่อการสอบ’ ที่เต็มไปด้วยร.ร.กวดวิชาและห้องเรียน
โดยหนึ่งในระบบ AI จ้างงานที่สื่อรอยเตอร์ทดสอบจะขอให้ผู้สมัครแนะนำตัวเอง ในระหว่างนั้น จะตรวสอบการแสดงออกของใบหน้า ทั้งความกลัว และความสุข และวิเคราะห์การเลือกใช้คำ
จากนั้นก็จะถามคำถามที่ยากที่จะตอบอย่าง “คุณอยู่ในทริปธุรกิจกับเจ้านายของคุณ และคุณเห็นเขาใช้บัตรเครดิตของบริษัทซื้อของขวัญให้ตัวเอง คุณจะพูดอะไรกับเขา”
AI จ้างงานจะใช้หลักการเกม (gamification) ในการตรวจสอบบุคลิกภาพของผู้สมัครและการปรับตัวแก้ไขปัญหาผ่านบททดสอบอย่างต่อเนื่อง
“ จากหลักการเกม นายจ้างสามารถเช็คความสามารถที่แตกต่างกันถึง 37 จุดของผู้สมัครงาน และทราบว่าคนไหนเหมาะสมกับคำแหน่งงานใด” คริส จุง ผู้จัดการอาวุโสที่บริษัทซอฟต์แวร์ Midas IT ในพังโย ซึ่งเป็นฮับเทคโนโลยีแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ที่เหมือนกับซิลิคอน วัลเลย์ในสหรัฐฯ ระบุ
ที่ People & People ของที่ปรึกษาพัค ระบุว่า ได้ใช้ AI จ้างงานในการสัมภาษณ์งานกับนักศึกษามหาวิทยาลัย, บัณฑิต และครูผู้สอนไปแล้วกว่า 700 ราย
“ นักศึกษาต้องดิ้นรนมากกับการผุดขึ้นมาของ AI สัมภาษณ์งาน เป้าหมายของผมคือการช่วยพวกเขาให้สามารถเตรียมตัวให้พร้อมกับสิ่งที่พวกเขาจะต้องรับมือ” พัคกล่าว
ในห้องแชทออนไลน์ที่เขาสังเกตการณ์อยู่ มีคนเข้ามาคุยกันกว่า 600 ราย หลายข้อความขอบคุณคลาสของเขาและความสำเร็จจากการสัมภาษณ์งานกับ AI
แต่บางคนที่ไม่ได้ลงเรียนคอร์สติวเข้มนี้ก็ยอมแพ้ไปแล้ว อย่างคิมซอกวู นักศึกษาปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัยชั้นนำ วัย 22 ปี ซึ่งสัมภาษณ์งานกับ AI ในตำแหน่งการจัดการในบริษัทค้าปลีกแห่งหนึ่งไม่ผ่าน และตัดสินใจเรียนต่อในระดับปริญญาโท แทนการหางานทำ
“ ผมคิดว่า ผมจะรู้สึกสิ้นหวังถ้าทุกบริษัทใช้ AI จ้างงาน การสัมภาษณ์งานกับ AI เป็นเรื่องใหม่ คนสมัครงานไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร และการเตรียมตัวใดๆก็ไม่มีความหมาย เพราะ AI อ่านใบหน้าของเราออกหมดถ้าเราสร้างเรื่องขึ้นมา”.