บีโอไอ เปิดหลักสูตร TOISC รุ่น 18
บีโอไอ เปิดหลักสูตร “สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ (TOISC)” รุ่น 18 เดือนมีนาคมนี้ ดึงนักลงทุนไทยศึกษาลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMVI และเอเชียใต้
นายพัลลภ บุญศิริ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยจำนวนมาก ให้ความสนใจในการออกไปศึกษาลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMVI ซึ่งประกอบด้วยประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย รวมไปถึงกลุ่มประเทศในเอเชียใต้ เช่น อินเดีย บังคลาเทศ และศรีลังกา เป็นต้น เนื่องจากเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้มีการขยายตัวมากขึ้น
“อุตสาหกรรมหลักที่นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง รองลงมาคืออุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมพลังงานและพลังงานทดแทนตามลำดับ โดยมีการลงทุนในเวียดนามและกัมพูชามากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือเมียนมา และ สปป.ลาว ตามลำดับ” นายพัลลภกล่าว
ทั้งนี้ กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยศูนย์พัฒนาการลงทุนไทยในต่างประเทศ (Thailand Overseas Investment Support Center : TOISC) ได้เปิดอบรมหลักสูตร “สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ” ไปแล้วจำนวน 17 รุ่น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ และสร้างนักลงทุนไทยรุ่นใหม่ให้พร้อมออกไปลงทุนในต่างประเทศ ปัจจุบันมีผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้วกว่า 600 ราย
สำหรับการเปิดอบรมหลักสูตร “สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ (TOISC)” รุ่นที่ 18 จะเปิดรับสมัครในเดือนมีนาคม 2563 โดยมีการอบรมไม่น้อยกว่า 60 ชั่วโมง โครงสร้างหลักสูตรจะเน้นกลยุทธ์และกระบวนการที่จำเป็นในการลงทุน การบริหารจัดการ รวมถึงการนำผลกำไรกลับมายังประเทศ โดยมีวิทยากร ที่มีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจในต่างประเทศ ร่วมบรรยายตอบข้อซักถามและปัญหาต่างๆ
นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักลงทุน และการเดินทางไปศึกษาลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศอย่างน้อย 1 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ปากีสถาน บังคลาเทศ เวียดนาม และจีนตอนใต้ ซึ่งผู้เข้าอบรมจะมีโอกาสได้พบปะกับหน่วยงานรัฐและเอกชน และร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่าง ผู้เข้าอบรมกับนักลงทุนท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการติดต่อประสานงานและทำธุรกิจร่วมกับนักลงทุนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น การซื้อวัตถุดิบระหว่างกัน การทำตลาดร่วมกัน เป็นต้น
“ในช่วงแรกนักลงทุนที่เข้าร่วมอบรมหลักสูตร สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศนั้น จะเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนจากบริษัทขนาดใหญ่เข้าร่วมอบรมได้ โดยธุรกิจของผู้เข้าร่วมอบรมที่ไปลงทุนในประเทศ CLMVI นั้นค่อนข้างหลากหลาย ทั้งในรูปแบบเทรดดิ้งหรือการซื้อมาขายไป ธุรกิจที่ปรึกษาการออกแบบทางวิศวกรรม ธุรกิจดิจิทัล โลจิสติกส์ สิ่งทอ อาหารแปรรูปและอาหารแช่แข็ง เป็นต้น” นายพัลลภกล่าว.