ปี 64 ลดให้ก๊าซผลิตไฟเหลือร้อยละ 47
กระทรวงพลังงาน เผยตั้งเป้าลดใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าลดลงเหลือร้อยละ 47 ในปี 2564 และให้มีใช้พลังงานทดแทน เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17.34 เพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2018 หัวข้อ “นวัตกรรมพลังงาน…โอกาสอุตสาหกรรมไทย” ว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมถึงการจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 5 แผน ในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2579 ซึ่งประกอบไปด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) และแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ตลอดจนขยายโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยในปี 2564 มีเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17.34 และการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลดลงเหลือร้อยละ 47
ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้กำหนดทิศทางนวัตกรรมด้านพลังงานภายใต้นโยบาย Energy 4.0 โดยการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ในอนาคต ซึ่งเป็นทางเลือกการใช้พลังงาน ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน Energy Storage ในระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนให้มีเสถียรภาพ
รวมทั้งส่งเสริมให้มี SPP Hybrid Firm โดยเปิดให้มีการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 1 ประเภท ทั้งจากธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ ลม กับพลังงานชีวภาพ เพื่อลดความผันผวนของพลังงานทดแทน สร้างความมั่นคงต่อระบบไฟฟ้า ด้วยการยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงานในปัจจุบัน และนำนวัตกรรมที่เหมาะสม มาใช้ในการพัฒนากิจการไฟฟ้าในอนาคต โดยการพัฒนาระบบ Smart Grid และโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยจะสามารถไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จำเป็นต้องยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรมด้วยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคอื่นๆ โดยปัจจุบันได้มี Disruptive Technology ซึ่งเป็นการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สร้างตลาดและมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีและส่งผลกระทบต่อตลาดของผลิตภัณฑ์เดิม และธุรกิจแบบเดิมๆ
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในอนาคตของผู้ประกอบการ จึงควรมีการทำความเข้าใจกับบุคลากรในองค์กรให้เห็นถึงความเข้าใจใน Disruptive Technology ที่ช่วยปรับปรุงการบริหารทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง การรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป.