ชงแสนล้าน ช่วยSMEแสนราย 7 ม.ค.นี้
“อุตตม” ชงมาตรการช่วยเหลือเอ็มอี 1 แสนรายเข้า ครม. อังคารที่ 7 ม.ค.นี้ พร้อมอัดฉีดเงินจากแหล่งต่างๆ รวมกว่า 1 แสนล้านบาท อุ้ม 3 กลุ่มหลัก มั่นใจหากผู้ประกอบการกลุ่มนี้พ้นวิกฤติ ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยแน่
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงสายวันนี้ (4 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยย้ำว่าที่ประชุมฯเห็นพร้องกับมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และจะนำมาตรการดังกล่าวเข้าที่สู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 7 ม.ค.นี้
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในครั้งนี้ จะครอบคลุมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3 กลุ่ม รวม 1 แสนราย ประกอบด้วย 1.กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีปัญหาในการดำเนินธุรกิจ และต้องการสภาพคล่อง แต่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งมีมากสุดราว 50% 2.กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีปัญหาและกำลังจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ที่มีราว 20% ซึ่ง บสย.จะขยายเวลาการฟ้องร้องดำเนินคดีออกไป โดยจะไม่ฟ้องก่อน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าหนี้ ได้มีเวลาในการบริหารจัดการหนี้สินในกลุ่มนี้ จากเดิม 5 ปี เป็น 7 ปี และ 3.กลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ แต่ต้องการเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนประมาณ 30%
“กระทรวงการคลังได้หารือกับทางสมาคมธนาคารไทย ถึงแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยที่ บสย.พร้อมจะขยายวงเงินคำประกันสินเชื่อจากเดิม 30% เป็นมากกว่านั้น แต่จะถึงระดับ 40% หรือมากกว่านั้นหรือไม่ คงต้องรอให้ที่ประชคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาถึงความเหมาะสมอีกที แต่การขยายวงเงินค้ำประกันครั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งกระทรวงการคลังเอง ก็เตรียมจะเจรจาเพื่อดึงเงินจากกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีของ สสว. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ที่มี 10,000 ล้านบาท มาช่วยเหลือ บสย.ราว 3,000 ล้านบาท” รมว.คลัง ระบุ
นอกจากเงินที่ บสย.มี และเงินที่ บสย.จะได้รับจากกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีของ สสว.อีก 3,000 ล้านบาทแล้ว ยังมีวงเงินสินเชื่อเอสเอ็มอีจากธนาคารออมสินราว 4,000 ล้านบาท รวมกับวงเงินสินเชื่อให้เอสเอ็มอีของธนาคารกรุงไทยอีกราว 6,000 ล้านบาท ซึ่งจะให้มีวงเงินรวมที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านมาตรการในรอบนี้รวมกันมากกว่า 1 แสนล้านบาท โดยไม่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด
นายอุตตมกล่าวอีกว่า หากมาตรการดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ก็สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องได้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐและเอกชนตลอดเวลาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้ง 3 กลุ่มผ่านพ้นปัญหาและอุปสรรคในช่วงนี้ไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าทุกอย่างจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้ว และที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดี แม้จะไม่ได้อยู่ใน 3 กลุ่มที่จะได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้ แต่คงจะมีการพิจารณาช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป จากธนาคารเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่สามารถดำเนอนการได้อยู่แล้ว.