เรียกคะแนน พลิกศรัทธา “โรงไฟฟ้าชุมชน”
โรงไฟฟ้าชุมชน ความคาดหวังสุดท้าย ไม้ตายหนึ่งเดียวของรัฐบาล ที่ยังพอมีหวัง หลังจากหลายต่อหลายนโยบายผุดออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่กลับไม่เป็นดังคาด…ความหวังทั้งมวลจึงตกมาที่ “โรงไฟฟ้าชุมชน”!!
เป็นที่แน่ชัด แล้วว่า โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2563 หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อ 16 ธ.ค.2562 เห็นชอบกรอบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่มีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อ 4 ธ.ค.2562
ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อช่วยให้ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า และลดภาระค่าใช้จ่าย ทั้งยังมีรายได้ จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง และยังเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน
นี่คือจุดประสงค์หลัก ที่ กระทรวงพลังงาน ตั้งใจผลักดัน…
โรงไฟฟ้าชุมชน 4 รูปแบบ ที่จะเกิดขึ้น คือ 1.โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ จะนำขยะชุมชน ของเสีย/น้ำเสียจากอุตสาหกรรม ของเสียจากการเกษตร และพืชพลังงานใช้เชื้อเพลิง มาใช้เป็นเชื้อเพลิง 2.โรงไฟฟ้าชีวมวล จะใช้เชื้อเพลิงจากเศษวัสดุต่างๆที่เป็นชีวมวล เช่น กากอ้อย แกลบ ทะลายปาล์ม ไม้สับ เป็นต้น
3.โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และ 4.โรงไฟฟ้าไฮบริด เป็นโรงไฟฟ้าแบบหลากหลายเชื้อเพลิง (Multi-Feedstock) เช่น ไฮบริดก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย-พลังงานแสงอาทิตย์), ไฮบริดก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน-พลังงานแสงอาทิตย์), ไฮบริดชีวมวล-พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนที่มีในแต่ละพื้นที่
สำหรับรูปแบบการร่วมทุนจะมีกลุ่มผู้เสนอโครงการ ซึ่งอาจเป็นภาคเอกชนเข้าร่วมกับองค์กรภาครัฐ ก็ได้จะถือในสัดส่วน 60 – 90% และอีกกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน (สมาชิกไม่น้อยกว่า200 ครัวเรือน) ถือในสัดส่วน 10 – 40% โดยส่วนแบ่งรายได้หากเป็น โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน) ส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า25 สต./หน่วย และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไฮบริด ส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 50 สต./หน่วย ส่วนราคารับซื้อก็อยู่ในอัตราเฉลี่ยประมาณ 3 – 5 บาทต่อหน่วยตามแต่ละประเภทเชื้อเพลิง
ส่วนคุณสมบัติของวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรที่จะเข้าร่วม จะต้องมีสมาชิกสามัญและสมทบไม่น้อยกว่า 100 คน หรือ ถ้ามีไม่ถึงให้รวมวิสาหกิจให้จำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และมีพื้นที่ปลูกพืชพลังงานรวมกันไม่น้อยกว่า 1000 ไร่ต่อเมกกะวัตต์
ซึ่งล่าสุดได้มี เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ทั่วประเทศ จากจังหวัด พะเยา เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ตราด ราชบุรี เพชรบุรี ชุมพร พัทลุง สตูล และปัตตานี ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้เร่งผลักดันโดยเร็ว
นางสังวาลย์ พิมลรัตน์ ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้ทั่วประเทศ บอกว่า เกษตรกรคาดหวังกับโครงการนี้มาก และเชื่อว่า เมื่อไหร่ที่โรงไฟฟ้าเกิด เกษตกรก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน และหากเป็นไปได้ก็อยากให้ทุกชุมชนมีโรงไฟฟ้า เพราะชาวบ้านจะได้มีงาน มีรายได้ ไม่ต้องออกไปหารายได้จากที่อื่นอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานก็ได้เตรียมแผนงาน ที่จะเริ่มเดินสายทำความเข้าใจประชาชนให้ครอบคลุมทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการโรงไฟฟ้าชุมชน ทั้งในเรื่องของพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าจะต้องอยู่ในบริเวณที่ตั้งของสายส่ง สมาชิกที่เข้าร่วม ปริมาณการผลิตพืชพลังงานที่เป็นวัตถุดิบ รวมไปถึงความเข้มแข็งของชุมชนที่จะมีการขยายกำลังการผลิตต่อไปในอนาคต
และได้ตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2563 โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เฟสแรก จะเกิดขึ้น 200 แห่ง ซึ่งจำนวนนั้นจะมีโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทเร่งด่วน หรือ ควิกวิน เกิดขึ้น 20 แห่ง ภายใน 6 เดือนแรก
ดังนั้น โรงไฟฟ้าชุมชน ที่ถูกกำหนดมา เพื่อเศรษฐกิจฐานราก จึงไม้ตายสุดท้าย ที่รัฐบาลคาดหวัง เพราะหากเป็นไปตามแผน เกษตรกร ชุมชน คนรากหญ้า มีรายได้ หลุดพ้นความยากจน
ที่แม้จะไม่ได้พลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้เต็มร้อย แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ เศรษฐกิจฐานราก มีความเข้มแข็ง ชุมชนมีรายได้ คะแนนนิยมของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ได้อยู่กันยาวๆ ตามโมเดล…