ราคาน้ำมัน ลดได้อีก ลิตรละ 1.50 บาท?!
ยังต้องถกกันต่อ แม้ว่าคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม จะเห็นพ้องให้ยกเลิกราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น เพราะคณะทำงานภาคประชาชน เชื่อว่า ผลที่ได้คือราคาน้ำมันลดลงทันที 1.50 บาทต่อลิตร…
หลังจาก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงนามแต่งตั้ง คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ จะมีตัวแทนจากภาคเอกชนและภาครัฐ และจากกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก ร่วมหารือในการวางโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และได้มีการประชุมต่อเนื่องในทุกสัปดาห์
คณะทำงานฯ ได้หยิบยก โครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น มาพิจารณา ใน 3 ประเด็น คือ 1.เกณฑ์การอ้างอิงสูตรราคาน้ำมันนำเข้าจากตลาดสิงคโปร์รวมค่าพรีเมียม (Import Parity) เหมาะสมหรือไม่ 2.ถ้าไม่ใช่สูตรราคานำเข้าจากสิงคโปร์ จะมีสูตรอื่นหรือไม่ และ 3.หรือยกเลิกราคาอ้างอิงน้ำมันตลาดสิงคโปร์จะมีผลอย่างไร
ซึ่ง นายรุ่งชัย จันทสิงห์ คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ในส่วนของภาคประชาชน บอกว่า จากข้อมูลพบว่าราคาน้ำมันสามารถลดลงได้ประมาณ 1.50 บาทต่อลิตร ซึ่งมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซินประมาณ 50 สตางค์ต่อลิตร เนื่องจากเมื่อเดือนพ.ย. 2562 สิงคโปร์ได้ปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันเบนซินเป็นมาตรฐานยุโรป 4 (ยูโร4) จากเดิมเป็นมาตรฐานยุโรป 3 (ยูโร3) ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับไทยแล้ว ดังนั้นโรงกลั่นจึงไม่ควรคิดค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซินอีก
2.ส่วนค่าพรีเมียมอื่น ๆ น่าจะปรับลดลงได้อีก 10-15 สตางค์ต่อลิตร และ 3.หากปรับเปลี่ยนสูตรราคาอ้างอิงน้ำมันนำเข้าจากตลาดสิงคโปร์และอ้างอิงราคาที่ไทยส่งออกน้ำมันแทน น่าจะลดราคาน้ำมันลงได้ 1 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ข้อมูลปี 2561 ไทยมีการส่งออกน้ำมันรวมประมาณ 3 แสนล้านบาท
เช่นเดียวกับ นางสาวรสนา โตสิตระกูล คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ในส่วนของภาคประชาชน บอกว่า จากข้อมูลพบว่า ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ราคาน้ำมันดิบ และ 2.ราคาพรีเมียม ประกอบด้วย ค่าขนส่งน้ำมันจากตลาดสิงคโปร์มายังไทย, ค่าสูญเสียน้ำมันระหว่างขนส่ง, ค่าเสียเวลาเรือ, ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน,ค่าใช้จ่ายสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง และค่าบริการอื่น ๆ ฉะนั้น ส่วนค่าพรีเมียม คาดว่าจะสามารถลดลงได้
คณะทำงานฯ จึงเห็นพ้อง ที่จะยกเลิกค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน…
โดยให้เหตุผล ว่า เนื่องจากปัจจุบันสิงคโปร์ได้ปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันจากมาตรฐานยุโรประดับ 3 (ยูโร 3) มาเป็นมาตรฐานยูโร 4 ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันของไทย ดังนั้น โรงกลั่นไม่ควรคิดค่าปรับปรุงคุณภาพดังกล่าวแล้ว
แต่ทั้งนี้ ทั้งนี้ก็ต้องนำผลสรุปนี้ไปหารือกลับกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันต่อไป
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน บอกว่า ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ทั้งสองฝ่ายเห็นควรว่าจะต้องยกเลิก ส่วนจะเป็นตัวเลขใดนั้นกำลังทำตัวเลขกันอยู่ ส่วนการปรับสูตรให้ไปทำร่วมกัน ว่าจะเห็นพ้องต้องกันปรับสูตรตัวไหนอย่างไร ก็เป็นนิมิตรหมายที่ดีเขาจะเสนอมาว่าสูตรอะไรอย่างไร เราเห็นแนวทางไหน เขาเห็นแนวทางไหน ก็จูนให้ตรงกัน อยู่ในกระบวนการหารือเจรจากัน หลังจากนั้นก็ต้องไปคุยกับโรงกลั่นด้วย การทำที่จะไปทุบเขาฝ่ายเดียว อีกฝ่ายไม่ยอมรับก็จะกลับไปวงจรเดิม ต้องออกมานั่งประท้วงกันอีก ก็ไม่สำเร็จอีก ถ้าจะทำให้สำเร็จต้องให้ทุกคนยอมรับและนำไปใช้ ซึ่งน่าจะประชุมกันอีกครั้งต่อไป
และนอกจากนี้ คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ก็จะหารือเรื่องการปรับสูตรราคาก๊าซฯ ทั้งระบบ ทั้งก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อไปเช่นกัน
ขณะที่นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เห็นว่าการปรับสูตรราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่น ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะปัจจุบันค่าการกลั่นที่อยู่ระดับ 2-3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือประมาณ 60 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งค่อนข้างต่ำมาก
ขณะเดียวกัน โรงกลั่นของไทยมีผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงในสิงคโปร์ รวมถึงไทยยังมีการนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐาน (Gasoline Base :G-Base) บางส่วนเพราะการผลิตไม่เพียงพอ
ฉะนั้นจึงต้องนำสิ่งเหล่านี้ มาพิจารณาประกอบควบคู่กันไปด้วย เพราะการนำเข้าต้องนำเข้าที่ราคาสิงคโปร์ ขนเข้ามาไทย ต้องมีการจ่ายค่าประกัน
ความหมาย คือ ต้องนำราคาหน้าโรงกลั่นและราคาที่นำเข้า มาพิจารณาประกอบด้วยเช่นกัน ดังนั้น โครงสร้างราคาพลังงานใหม่ จึงมีโจทย์เพิ่มขึ้น
โจทย์ที่ว่าก็คือ ใครหละ จะเป็นผู้แบกรับภาระนี้.?!