ครม.หนุนไทยผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
“อุตตมะ” ชง ครม.ไฟเขียวแจ้งเกิดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทั้งลดอัตราภาษีและสร้างตลาดหวังกระตุ้นการบริโภคให้เกิดขึ้นภายในประเทศเพื่อรองรับนวัตกรรมใหม่
“ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ให้ความเห็น ชอบมาตรการสนับสนุนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าใน 6 ด้าน ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุปทาน (Supply) มาตรการกระตุ้นตลาดภายในประเทศ (Demand) การเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน การจัดทำมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้า การบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว และมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ” นายอุตตมะ สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกล่าวว่า
“ครม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ทั้งในเรื่องภาษี มาตราการกระตุ้นตลาดในประเทศ การเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นกระตุ้นและสร้างความตระหนักการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในประเทศ”
สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุปทาน (Supply) นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการนำเสนอคณะกรรมการบีโอไอ พิจารณาเปิดให้มีการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้าและชิ้นส่วนของรถ ยนต์ โดยครอบคลุมประเภทกิจการ ได้แก่ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้ง กิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า
ทั้งนี้ บีโอไอจะกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีการเสนอโครงการเป็นแผนงานรวม (Package) ประกอบด้วย การประกอบรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วนหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ (Traction Motor) ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) และระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) แผนการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว และแผนการพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ได้มีการเสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ (28 มี.ค.60) ในการกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราพิเศษ โดยรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน จะลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากอัตราปกติลงกึ่งหนึ่ง และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่จะลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากอัตราปกติเหลือ 2% ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าจะต้องผ่านการอนุมัติโครงการจากบีโอไอ และมีการผลิตและใช้แบตเตอรี่ในประเทศ ในปีที่ 5
ส่วนมาตรการกระตุ้นตลาดภายในประเทศ (Demand) เพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจว่าภาครัฐให้การสนับสนุนนโยบายรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจังและชัดเจน คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้หน่วยงานที่ราชการและรัฐวิสาหกิจสามารถจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่มาใช้งานได้ รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการนำรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่มาใช้เป็นรถยนต์บริการ ทั้งในส่วนของสนามบิน (รถยนต์ลีมูซีน) พื้นที่ปลอดมลพิษต่าง ๆ ภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor Development: EEC) และเขตอุทยานประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว เช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นต้น
ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม จะมีบทบาทสำคัญในเรื่องของการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน โดยการดำเนินโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ บนพื้นที่ 1,200 ไร่ ณ อำเภอสนามชัย จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจะเป็นองค์ประ กอบพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าด้วยนวัตกรรม ส่งเสริมให้ประ เทศไทยเป็นประเทศเป้าหมายของการลงทุนในการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต โดยศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะเปิดดำเนินการในเฟสแรกภายในเดือนมีนาคม 2561
ขณะที่ในส่วนการจัดทำมาตรฐานไฟฟ้า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้ออกประกาศมาตรฐานเต้ารับและเต้าเสียบสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (มอก.2749) แล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรฐานที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น มาตรฐานระบบการประจุไฟฟ้าของรถยนต์ไฟฟ้ามาตรฐานความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า และมาตรฐานแบบเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนั้น มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือรถยนต์แห่งอนาคต (Next-Generation Automotive) จะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก้าวเข้าสู่ยุคของการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ตามนโยบาย S Curve และ Thailand 4.0 ของรัฐบาล รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น พลาสติกและปิโตรเคมีอิเลคทรอนิกส์ ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพิ่มมากขึ้นด้วย.