นักข่าวสาวญี่ปุ่นชนะคดี #MeToo
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ศาลโตเกียวมีคำพิพากษาให้มีการจ่ายค่าเสียหายจำนวน 3.3 ล้านเยน ( 911,100 บาท) ให้กับนักข่าวสาวชิโอริ อิโต ซึ่งกล่าวหาว่าอดีตผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ว่าข่มขืนเธอ นับเป็นหนึ่งในคดีที่โด่งดังที่สุดที่เกี่ยวข้องกับกระแส #MeToo ในญี่ปุ่น
คดีนี้กลายเป็นพาดหัวข่าวทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ เนื่องจากมีโอกาสน้อยมากที่เหยื่อข่มขืนจะแจ้งความกับตำรวจ จากผลสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นในปี 2560 มีเหยื่อข่มขืนเพียง 4% เท่านั้นที่กล้าออกมาแจ้งความ
อิโตกลายเป็นสัญลักษณ์ของ #MeToo ในญี่ปุ่น ที่ซึ่งความเคลื่อนไหวต่อต้านการคุกคามทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศยากจะเกิดขึ้น
โดยเธอฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 11 ล้านเยน ( 3.03 ล้านบาท ) จากโนริยูกิ ยามากุชิ อดีตผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ ซึ่งมีความสนิทสนมกับ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จากข้อกล่าวหาที่เขาข่มขืนเธอหลังจากเชิญเธอไปรับประทานอาหารมื้อเย็นเพื่อปรึกษาเรื่องโอกาสงานในปี 2558 โดยยามากุชิปฏิเสธว่าไม่ได้ทำผิด และได้ฟ้องกลับเธอ โดยเรียกค่าเสียหายจำนวน 130 ล้านเยน
“ เราชนะ ศาลยกฟ้องที่เขาฟ้องกลับเรา” อิโตกล่าวอยู่นอกศาล โดยถือป้ายว่า “ชัยชนะ”
ก่อนหน้าที่ศาลจะตัดสิน อิโตที่ให้สัมภาณ์ต่อหน้ากล้องระบุว่าเธอได้รับกำลังใจอย่างท่วมท้น
“ ตั้งแต่ตื่นนอนเช้านี้ ฉันได้รับข้อความมากมายจากทั่วโลกว่าอยู่ข้างดิฉัน ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะการกระทำของฉันมีความหมายมาก” เธอกล่าวกับผู้สื่อข่าว
โดยอิโตออกมาเปิดเผยเรื่องราวของเธอก่อนจะเกิดกระแส #MeToo และเรื่องนี้ถูกมองว่า “แปลก โดยเฉพาะในญี่ปุ่น” เมื่อมีความเคลื่อนไหว #MeToo เกิดขึ้น “ ฉันคิดว่าไม่ได้มีแค่ฉัน ! และเชื่อว่ามีคนอื่นที่จะทำเหมือนฉันอีก ”
แต่หลายอย่างในญี่ปุ่นดำเนินไปอย่างเชื่องช้า “ ฉันเห็นในยุุโรป หรือสหรัฐฯ ที่มีการคุยกันอย่างคึกคัก และยืนหยัดร่วมกัน แต่ฉันไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในญี่ปุ่น” เธอระบุ
เธอกล่าวว่า ปัญหาสำคัญในสื่อญี่ปุ่นคือสัดส่วนของผู้ชายในการตัดสินใจเรื่องตำแหน่งงาน แต่เธอเสริมว่าสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงจากกรณีคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น และเรื่องราวของเธอที่ถูกบอกเล่าในต่างประเทศ
อิโตกล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อ AFP ว่า “การทนทุกข์ทรมานอย่างเงียบๆ เป็นสิ่งที่สูงส่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่น”
“ ฉันถูกสบประมาทและถูกขู่คุกคามมากมาย แต่ที่เสียใจที่สุดคืออีเมลที่แสนสุภาพจากพวกผู้หญิงที่บอกฉันว่า ฉันควรละอายใจที่เปิดเผยทุกอย่าง” เธอกล่าว
อิโตกล่าวหาว่าผู้ก่อเหตุมอมยาเธอ และชี้ว่าตำรวจพลาดในการตรวจสอบหลักฐาน “ เมื่อฉันมีสติขึ้นมา รู้สึกเจ็บปวดมาก ฉันอยู่ในห้องพักในโรงแรมและเขาอยู่บนตัวฉัน ฉันรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่มีแรงจะทำอะไรได้”
โดยตำรวจ ซึ่งใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการเปิดการสอบสวน กล่าวกับอิโตว่า พวกเขาจะไปจับกุมยามากุชิ เธอกล่าว แต่หลังจากนั้นตำรวจก็ไม่ได้ทำ
อิโตตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ที่แสนเจ็บปวดในคดีของเธอเมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่เธอไม่ยอมตกอยู่ในความเงียบอีก
ญี่ปุ่นเพิ่มโทษจำคุกสำหรับผู้ต้องหาคดีข่มขืนจาก 3 ปีเป็น 5 ปี และขยายคำนิยามของเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศให้ครอบคลุมผู้ชายด้วยเป็นครั้งแรกในปี 2560
บรรดาส.ส.ลงมติในทางลับเพื่อแก้ไขกฎหมายเก่าตั้งแต่ปี 2450 ให้มีบทลงโทษหนักขึ้นกับผู้ก่อเหตุในคดีทางเพศ และทำให้ง่ายขึ้นสำหรับกระบวนการทางกฏหมาย เนื่องจากต้องการให้จำนวนคดีทางเพศสะท้อนความเป็นจริงในญี่ปุ่น จากเดิมที่เป็นคดีน้อยมาก เพราะเหยื่ออับอายเกินกว่าจะแจ้งความกับตำรวจ