ญี่ปุ่นส่งออกร่วง 12 เดือนต่อเนื่อง
ตัวเลขส่งออกของญี่ปุ่นลดดิ่งลงเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกันในเดือนพ.ย. เนื่องจากยอดจัดส่งสินค้าไปสหรัฐฯและจีนลดลง ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออก ก่อให้เกิดความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในไตรมาส 4
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.มีการเผยแพร่ข้อมูลทางการที่ชี้ว่า การส่งออกของญี่ปุ่นร่วงลง 7.9% ในเดือนพ.ย.เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ตัวเลขดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์ของรอยเตอร์ที่คาดว่าจะหดตัวถึง 8.6%
ยอดส่งออกที่ซบเซา มาจากยอดจัดส่งที่ลดลง ทั้งรถยนต์และเครื่องจักรก่อสร้างที่ส่งออกไปสหรัฐฯและเคมีภัณฑ์ที่ส่งไปจีน ทำให้เป็นตัวเลขส่งออกที่ปรับลดลงยาวนานที่สุด นับตั้งแต่ช่วง 14 เดือนถึงเดือนพ.ย.2559
ในแง่ของปริมาณ ยอดส่งออกลดลง 5.0% ในปีนี้จนถึงเดือนพ.ย. ปรับลดลง 4 เดือนต่อเนื่อง
ข้อมูลจากสัปดาห์ก่อนชี้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตในอัตราที่รวดเร็วกว่าที่รายงานในไตรมาส 3 โดยได้อานิสงส์จากการใช้จ่ายทางธุรกิจและการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น
แต่มีความกังวลว่า ตัวเลขเติบโตในไตรมาส 3 อาจไม่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาลงอย่างแท้จริง หลังจากรัฐบาลประกาศขึ้นภาษีบริโภคทั่วประเทศในเดือนต.ค.ส่งผลกระทบครั้งใหญ่กับความเชื่อมั่นของบริษัทและครัวเรือน
ผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 2 ปีในเดือนต.ค. ขณะที่การค้าปลีกและการใช้จ่ายครัวเรือนลดลงหลังจากผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงหลังรัฐบาลขึ้นภาษีบริโภค
โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงนโยบายทางการคลังไว้เหมือนเดิมในการประชุมนโยบายเป็นเวลา 2 วันที่สิ้นสุดลงในวันที่ 19 ธ.ค. จากความก้าวหน้าของดีลการค้าสหรัฐฯ – จีน และมาตรการทางการเงินมูลค่า 122,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในประเทศที่ช่วยลดแรงกดดันของธนาคารกลางในการหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ยอดส่งออกไปจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีตัวเลขติดลบ 5.4% ในเดือนพ.ย. ลดลงเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน เนื่องจากยอดจัดส่งเคมีภัณฑ์และชิ้นส่วนรถยนต์ลดลง
ขณะที่ตัวเลขส่งออกไปเอเชีย ซึ่งคิดเป็นมากกว่าครึ่งของการส่งออกโดยรวมของญี่ปุ่นลดลง 5.7% ในปีนี้จนถึงเดือนพ.ย. ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจัดส่งลูกกลิ้งลำเลียงแนวราบ (flat roller ) ไปไทยลดลง
โดยตัวเลขส่งออกจากญี่ปุ่นไปสหรัฐฯลดลงเป็นเดือนที่ 4 ปรับลดลง 12.9% ในเดือนพ.ย. เนื่องจากยอดจัดส่งรถยนต์ , เครื่องจักรก่อสร้าง และชิ้นส่วนรถยนต์ลดลง
การนำเข้าโดยรวมของญี่ปุ่นดิ่งลง 15.7% ทำให้เป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2559 มากกว่าค่าประเมินเฉลี่ยว่าจะลดลง 12.7%
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 82,100 ล้านเยน เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสต์ว่าจะขาดดุลถึง 369,000 ล้านเยน.