อินโดฯ จ่อเก็บภาษี บ.ไฮเทค
จาการ์ตา (รอยเตอร์) – อินโดนีเซียระบุว่า บริษัทต่างชาติที่บูมในเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตต้องแต่งตั้งตัวแทนในประเทศและจ่ายภาษีที่เหมาะสม จากกฎข้อบังคับใหม่ที่ประกาศต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา
เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตในอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค และจะมีมูลค่าทะลุ 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 3.95 ล้านล้านบาท ) ภายในปี 2568 จากรายงาน
เดือนต.ค.ของกูเกิล , เทมาเส็กโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ และ Bain & Company ที่ปรึกษาธุรกิจทั่วโลก
ข้อกำหนดใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทันทีหลังวันที่ 25 พ.ย. เรียกร้องให้บริษัทที่มีฐานในต่างประเทศที่ให้บริการสินค้าหรือบริการอิเล็กทรอนิกส์ในอินโดนีเซียต้องมีความเท่าเทียมกับบริษัทที่ตั้งอยู่ภายในประเทศ และต้องปฏิบัติตามกฎหมายภาษี สื่อรอยเตอร์รายงาน
โดยจะมีผลกับทุกบริษัทที่ตรงตามกฎหมายกำหนด รวมถึงบริษัทที่สร้างการรับส่งข้อมูลที่สำคัญจากอินโดฯ หรือมีการทำธูรกรรมจำนวนมาก หรือมีมูลค่ามาก โดยไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดมากกว่านี้
บริษัทเหล่านี้ต้องแต่งตั้งตัวแทนตามกฎหมายอินโดฯ ซึ่งสามารถดำเนินการในนามบริษัทได้
“ เรากำหนดขึ้นมาเพื่อสร้างความเป็นธรรม” Susiwijono Mugiharso รมว.กระทรวงเศรษฐกิจระบุ “ ตลอดเวลาเราเป็นเพียงตลาด แต่ตอนนี้ หากพวกเขาทำเงินในตลาดของเรา พวกเขาต้องมีตัวตนที่นี่”
ศรี มุลยานี อินทราวาตี รมว.กระทรวงการคลังระบุเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ว่า เธอจะเสนอกฎหมายผ่านสภาในเดือนนี้ซึ่งจะทำให้ทางการรับรู้การมีอยู่ของบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ในฐานะผู้อยู่อาศัยที่เสียภาษีในอินโดฯรายหนึ่ง ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนิติบุคคล
สมาคมอีคอมเมิร์ซอินโดฯ ขานรับมาตรการนี้ด้วยความยินดี โดยมองว่าความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มีความยุติธรรมกับบรรดาบริษัทในประเทศ จากความเห็นของ Ignatius Untung ประธานสมาคม “กฎหมายภาษีเดิมล้าสมัย ปรับตัวไม่ทันกับสภาพในปัจจุบัน”
กฎระเบียบใหม่จะครอบคลุมประเด็นได้กว้างขวางขึ้นกับธุรกิจออนไลน์ในประเทศ เช่น กำหนดให้ต้องมีการปกป้องข้อมูลผู้ใช้งาน , ให้บริการลูกค้าสัมพันธ์ และแชร์ข้อมูลกับทางการในการบันทึกสถิติ
ทั้งนี้ อินโดนีเซียกำลังประสบปัญหารายได้จากการจัดเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าในปีนี้จากรายได้ส่งออกที่ซบเซาลง