ฮ่องกง 1 ใน 5 รายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน
มากกว่า 1.4 ล้านคนใช้ชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนในฮ่องกงในปี 2562 เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยรัฐบาลเตือนว่า เศรษฐกิจตกต่ำอาจยิ่งส่งผลกับรายได้ของคนในระดับรากหญ้ามากขึ้น
รายงานสถานการณ์ความยากจนในฮ่องกงที่รัฐบาลเผยแพร่เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ซึ่งสอดคล้องกับผลการประชุมของคณะกรรมการความยากจน แสดงให้เห็นตัวเลขผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนที่พุ่งขึ้นไปถึง 20.4%
เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกสถิติในปี 2552 ซึ่งในปีนั้น ตัวเลขสูงถึง 20.6%
ตัวแทนจากกลุ่มที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส.ส.และบรรดานักวิชาการ ต่างโจมตีรัฐบาลที่ไม่พยายามมากพอในการแก้ปัญหา
โดยรัฐบาลชี้แจงว่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาจากจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น และเตือนว่า สภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาจะยิ่งส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อย
“เศรษฐกิจในประเทศซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลกับรายได้และการจ้างงานในระดับรากหญ้า” รัฐบาลระบุ
การค้าปลีกและการท่องเที่ยวฮ่องกงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ยาวนานกว่า 6 เดือน โดยทางการประเมินว่าส่งผลกระทบประมาณ 2% กับ GDP
รัฐบาลคาดการณ์ว่า GDP ของฮ่องกงในปีนี้จะหดตัวลง 1.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเติบโตขึ้นถึง 3% จากปี 2560
จากสถิติชี้ว่า ประชากร 1.377 ล้านคนมีชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนในปี 2560 โดยมีจำนวนมากกว่าปี 2559 ประมาณ 25,000 คน
โดยเงื่อนไขล่าสุดของเส้นแบ่งความยากจนคือ คนโสดที่มีรายได้ต่อเดือน 4,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ( 15,760 บาท ) ครัวเรือนที่มีสมาชิก 2 คนคือรายได้ 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง( 39,400 บาท ) และครัวเรือนที่มีสมาชิก 3 คน คือ 16,500 ดอลลาร์ฮ่องกง ( 65,010 บาท)
จำนวนคนฮ่องกงยากจนในปี 2561 ลดลงมาอยู่ที่ 1.024 ล้านคนหลังจากรัฐบาลมีนโยบายเข้าแทรกแซงช่วยเหลือ เช่น เงินช่วยสวัสดิการสังคม และเงินผู้สูงอายุ แต่ตัวเลขยังคงสูงกว่าปี 2560 ถึง 15,000 คน
สำหรับผู้สูงวัยที่ยากจนในฮ่องกง การเข้าช่วยเหลือของภาครัฐมีผลเล็กน้อย โดยประมาณ 20,000 คนยังคงมีชีวิตต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนในปี 2560
รัฐบาลระบุว่า มีหลายคนในข้อมูลประชากรที่อาศัยอยู่โดยไม่มีรายได้ และสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลไม่สามารถอุดช่องว่างของเส้นแบ่งความยากจนได้
จากข้อมูลล่าสุดชี้ว่า ผู้มีอายุ 18 – 29 ปี มีอัตราความยากจนเพิ่มขึ้น 0.5% – 9.3% หมายความว่าคนรุ่นใหม่ประมาณ 90,000 คนที่ใช้ชีวิตอย่างยากจน
ศ.พอล ยิปซิวไฟ จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุว่า ตัวเลขล่าสุดระบุว่า ประสิทธิภาพของการช่วยเหลือเป็นเงินสดไม่สูงขนาดนั้น โดยการเข้าช่วยเหลือสามารถลดจำนวนประชากรที่ยากจนลงได้ประมาณ 27%
“ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสอนให้พวกเขาจับปลา แทนที่จะให้ปลากับพวกเขา” ศ.ยิปกล่าว โดยชี้ว่า มากกว่าครึ่งของคนจนอายุ 25 – 29 ปีไม่มีงานทำ แต่ 90% จบการศึกษาโดยสมบูรณ์
“ เราจำเป็นต้องมีความหลากหลายของงานเพื่อให้เหมาะกับทักษะแตกต่างที่คนหนุ่มสาวมี ช่วยพวกเขาให้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพได้เป็นทางออกหนึ่ง พวกเขาต้องการงานที่มีอนาคต”.