5 ข้อสะท้อนภาวะซบเซาเศรษฐกิจครัวเรือนไทย
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง 5 ข้อค้นพบสะท้อนภาวะซบเซาของเศรษฐกิจภาคครัวเรือนไทย รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีสวนทาง GDP EIC
ที่ยังเติบโตในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ครัวเรือนไทยมีรายได้ลดลงสวนทางกับ GDP ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 26,371 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ลดลง -2.1% จากในปี 2560 ที่ 26,946 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี
จากในช่วงก่อนหน้านี้ที่รายได้ครัวเรือนมีการเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทั้งนี้รายได้ครัวเรือนที่ลดลงนั้นสวนทางกับเศรษฐกิจเมื่อวัดจาก nominal GDP ที่เติบโตขึ้น 7.6% ในช่วงเดียวกัน (คำนวณเทียบ nominal GDP รวม 4 ไตรมาสย้อนหลังนับจากช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เทียบกับของทั้งปี 2560)
1:รายได้ครัวเรือนลดลงทั้งในส่วนที่มาจากการทำงานเป็นลูกจ้าง (ค่าจ้าง) และจากการประกอบธุรกิจ (กำไรจากกิจการ) โดยมีรายละเอียดในแต่ละแหล่งที่มารายได้ ดังนี้
รายได้ครัวเรือนจากการทำงานเป็นลูกจ้างลดลงจากปัจจัยระยะสั้นและปัจจัยเชิงโครงสร้าง จาก 22,237 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2560 เหลือ 21,879 บาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 หรือลดลง -1.6% อีไอซีวิเคราะห์ว่าการลดลงของรายได้ค่าจ้างของครัวเรือนมีสาเหตุมาจากจำนวนคนทำงานและจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อคนที่ลดลง รวมไปถึงอัตราค่าจ้างที่ชะลอลง ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักร (การลดการใช้แรงงานตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว) และปัจจัยเชิงโครงสร้าง (การเกษียณอายุของแรงงานตามโครงสร้างประชากร และการนำเทคโนโลยีทดแทนแรงงานมาใช้)
รายได้ครัวเรือนจากกำไรกิจการลดลงทั้งในและนอกภาคเกษตร โดยกำไรกิจการการเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ 7,048 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ลดลง -4.8% จาก 2 ปีก่อนหน้าสอดคล้องกับเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมที่เผชิญกับทั้งภัยแล้งและปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ ทั้งนี้กำไรกิจการการเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ส่วนรายได้ครัวเรือนที่มาจากกำไรกิจการนอกภาคเกษตรก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี2562 อยู่ที่ 19,269 บาท ลดลงจาก 18,685 บาทในปี 2560 หรือลดลง -3.0% ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากบริษัทขนาดใหญ่
สำหรับรายได้ครัวเรือนประเภทอื่น ๆ ค่อนข้างทรงตัว โดยรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยจากการลงทุน ดอกเบี้ยจากเงินออม เงินโอนจากภาครัฐ เงินโอนจากผู้อื่น ฯลฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 7,806 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2560 คาดว่าสาเหตุที่รายได้ในส่วนนี้ทรงตัวมาจากเงินออมเฉลี่ยต่อเดือนที่ลดลงและอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำ
2: การใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนไทยก็ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีเช่นกัน
ครัวเรือนไทยลดการใช้จ่ายลง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ครัวเรือนไทยใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 21,236 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนลดลง -0.9% จาก 21,437 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2560 ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง ทั้งนี้การลดลงของการใช้จ่ายยังอาจมีสาเหตุมาจากความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น รวมถึงภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
ครัวเรือนไทยลดการใช้จ่ายในหลายหมวด โดยเฉพาะรายจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงเทียบระหว่างช่วงครึ่งแรกของปี 2562 และปี 2560 ในแต่ละหมวดรายจ่ายพบว่า ครัวเรือนมีการลดรายจ่ายในสินค้าจำเป็นบางรายการ เช่น หมวดอาหารซึ่งเป็นหมวดที่มีสัดส่วนรายจ่ายสูงที่สุด (33.2% ของรายจ่ายทั้งหมด) และหมวดรายจ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล แต่ส่วนที่ลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยจะเป็นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รายจ่ายในด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความบันเทิง และการท่องเที่ยว สะท้อนว่าครัวเรือนไทยเลือกที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าและบริการฟุ่มเฟือยลงมากเป็นพิเศษในภาวะที่รายได้ไม่เติบโต
อย่างไรก็ดี โดยเฉลี่ยครัวเรือนก็ยังคงมีการเพิ่มรายจ่ายในบางรายการ เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งกาย ของใช้และบริการส่วนบุคคล และรายจ่ายด้านการสื่อสาร โดยรายจ่ายด้านการสื่อสารเป็นรายจ่ายหลักประเภทเดียวที่ครัวเรือนไม่เคยมีการลดการใช้จ่ายลงในตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
Fact 3: ครัวเรือนไทยเป็นหนี้มากขึ้น ภาระหนี้ต่อรายได้แตะระดับสูงสุด
ครัวเรือนไทยมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้ (46.3% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด) พบว่าภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 353,210 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 มาอยู่ที่ 362,373 บาทต่อครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้น 2.6% ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (หารเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้) เพิ่มขึ้นจาก 96.1% มาเป็น 97.7% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่างจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่มีการลดลง(deleverage) ในช่วงปี 2558 ถึงปี 2560 แล้วจึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงหลังจากนั้น ทั้งนี้สาเหตุหลักเป็นเพราะในช่วงดังกล่าวสัดส่วนรายได้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลง ขณะที่สัดส่วนของกำไรภาคธุรกิจ (ซึ่งส่วนมากน่าจะมาจากกำไรของธุรกิจขนาดใหญ่) ต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้น
Fact 4: ครัวเรือนไทยเก็บออมลดลงและมีความเปราะบางทางการเงินมากขึ้น
ครัวเรือนไทยออมลดลงจากในอดีตและมีครัวเรือนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเงินออม เงินออมซึ่งคำนวณจากรายได้หักด้วยรายจ่ายเพื่อการบริโภค รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ และรายจ่ายภาษีของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,677 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ลดลง -2.4% จากปี 2560 ที่ 1,718 บาท หากพิจารณาข้อมูลย้อนหลังจะพบว่าครัวเรือนไทยเก็บออมลดลงมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยเมื่อคิดเป็นอัตราการออมคำนวณจากสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่เพียง 6.4% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยอัตราการออมของครัวเรือนไทยเคยสูงสุดอยู่ที่ 11.0% เมื่อปี 2554 ทั้งนี้ 41.3% ของครัวเรือนไทยไม่มีการเก็บออมในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 และยิ่งเมื่อพิจารณาแยกเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 59.2% ของครัวเรือนที่มีหนี้ที่ไม่มีเงินออม
Fact 5: เงินช่วยเหลือจากภาครัฐมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ในการประคับประคองกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยในช่วงที่ความสามารถในการหารายได้อ่อนแอและยังมีความเปราะบางสูง
ครัวเรือนรายได้น้อยมีการพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ข้อมูลจากการสำรวจรายได้ของครัวเรือนนั้นจะมีส่วนหนึ่งที่มาจากการช่วยเหลือของภาครัฐ เช่น เงินโอน เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุและผู้พิการ และเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ซึ่งกลุ่มครัวเรือนที่ได้เงินส่วนนี้มากที่สุดคือกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน (19.9% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด) โดยเงินช่วยเหลือจากรัฐที่ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 813 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 11.6% ต่อรายได้ทั้งหมด ทั้งนี้สัดส่วนเงินช่วยเหลือของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยนั้นมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยเพิ่มจากสัดส่วนเพียงแค่ 3.5% ในปี 2552 สำหรับสัดส่วนเงินช่วยเหลือจากรัฐในกลุ่มรายได้ที่สูงกว่านั้นมีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เช่น กลุ่มรายได้ 1 ถึง 3 หมื่นบาทต่อเดือนจะอยู่ที่ราว3.5% หรือ กลุ่มรายได้มากกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไปจะอยูที่เพียง 0.6% เท่านั้น
โดยสรุป อีไอซีประเมินว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของภาคครัวเรือนไทยในช่วง 2 ปีผ่านมาอยู่ในภาวะซบเซา สะท้อนจากการลดลงทั้งรายได้และรายจ่าย สวนทางกับทิศทาง GDP รวมของประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงเดียวกันนอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีภาระหนี้ต่อรายได้ที่ค่อนข้างสูงซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่สำคัญต่อการใช้จ่ายและการกู้ยืมในระยะต่อไป อีกทั้งสัดส่วนการออมและกันชนทางการเงินซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการรับมือกับผลกระทบทางการเงินของครัวเรือนยังลดลง โดยปัจจุบันมีครัวเรือนไทยจำนวนมากไม่มีการเก็บออมและกว่าครึ่งมีสินทรัพย์ทางการเงินไม่พอรายจ่ายเกิน 3 เดือน
อีไอซีมองว่า มาตรการช่วยเหลือจากรัฐระยะสั้นจึงยังคงมีความจำเป็นในการประคับประคองการใช้จ่ายและการชำระหนี้โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความเปราะบางมากที่สุด และที่สำคัญยังควรต้องมีมาตรการการแก้ไขปัญหาในระยะยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของความสามารถในการหารายได้ของครัวเรือนไทยที่มีความอ่อนแอทั้งในส่วนของแรงงานและผู้ประกอบการ ด้วยการยกระดับผลิตภาพ (productivity) ผ่านการเพิ่มทักษะของแรงงานและการสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจ SMEs ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมไปถึงการส่งเสริมการกระจายรายได้ด้วยการสนับสนุนการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเป็นธรรมและการลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจขนาดเล็ก