หญิงเนปาลมีประจำเดือนยังต้องนอนนอกบ้าน
หญิงวัยรุ่นในหลายพื้นที่ของเนปาลยังคงถูกบังคับให้นอนนอกบ้านในช่วงที่พวกเธอมีประจำเดือน แม้จะมีข่าวการเสียชีวิต และมีกฎหมายห้ามประเพณีโบราณเหล่านี้ก็ตาม จากถ้อยแถลงของนักวิจัยเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ผลการศึกษาใหม่ ที่ตีพิมพ์ในเวลาไม่กี่วันหลังจากเหยื่อคนล่าสุดเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ พบว่าเกือบ 8 ใน 10 ของเด็กสาวในเขตการ์นาลี ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเนปาล ยังคงต้องปฏิบัติตามประเพณีโบราณคือ ถูกบังคับให้นอนนอกบ้านในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน
เพราะเด็กสาวและหญิงที่มีประจำเดือนถูกมองว่าไม่สะอาดบริสุทธิ์ พวกเธอจำนวนมากจึงต้องนอนในกระท่อม ซึ่งมีความเสี่ยงว่าจะถูกข่มขืน ถูกงูกัด หรือเสียชีวิตจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีมากเกินไปจากการจุดไฟเพื่อความอบอุ่นในกระท่อม
“ พวกผู้หญิงและเด็กสาวที่เราคุยด้วยกลัวว่าจะถูกงูหรือสัตว์อื่นๆกัดในตอนกลางคืน หรือถูกคนแปลกหน้าบุกเข้ามาทำร้ายพวกเธอ” เจนนิเฟอร์ ธอมสัน ซึ่งทำการวิจัยที่มีการตีพิมพ์ในวารสาร Sexual and Reproductive Health Matters ระบุ
“ แม้พวกเธอจะไม่เจอกับประสบการณ์เลวร้ายนี้โดยตรง แต่ความเครียดทางกายก็เป็นเรื่องจริง ” ธอมสันระบุ โดยเธอเป็นอาจารย์สอนวิชาการเมืองเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัย Bath ในอังกฤษ
ธรรมเนียมฮินดูเก่าแก่หลายศตวรรษที่เรียกกันว่า chhaupadi เป็นเรื่องผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2548 แต่มีเพียงโทษปรับเท่านั้น และเพิ่งมีการเสนอโทษจำคุกในปีที่แล้วหลังกรณีการเสียชีวิตของเด็กสาววัยรุ่นรายหนึ่ง และอีกกรณีหนึ่งเป็นแม่กับลูกชายซึ่งทำให้มีการอภิปรายในสภา
โดยผู้ทำวิจัยสัมภาษณ์วัยรุ่นสาวอายุระหว่าง 14 – 19 ปี ในพื้นที่ตะวันตกตอนกลางของเขตการ์นาลีเพื่อทำการศึกษา และพบว่า 77% ของผู้หญิงยังคงถูกบังคับให้ปฏิบัติตามประเพณี chhaupadi กันอยู่แม้จะมีกฎหมายห้ามก็ตาม
แม้แต่ในครัวเรือนของผู้มีฐานะร่ำรวยในเมือง ก็ยังพบว่าประมาณ 2 ใน 3 ของเด็กสาวต้องปฏิบัติตามธรรมเนียม chhaupadi เช่นกัน
มีการตีพิมพ์ผลการศึกษานี้ไม่ถึงสัปดาห์หลังจากตำรวจเนปาลจับกุมพี่เขยของสตรีรายหนึ่งที่เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจในกระท่อม ซึ่งเป็นคดีแรกที่มีการจับกุมในประเทศเนปาล
แต่บรรดานักเคลื่อนไหวระบุว่า ต้องมีการผลักดันให้เกิดการตระหนักรู้มากขึ้นและต่อสู้กับความคิดที่ว่า ผู้หญิงและเด็กหญิงที่มีประจำเดือนนั้นไม่บริสุทธิ์ และจะนำโชคร้ายมาให้กับชุมชน
“ ต้องมีการบูรณาการด้านสุขภาพและการศึกษาให้เข้าถึงทุกครัวเรือน และให้ความรู้กับประชาชนว่า ประจำเดือนเป็นกระบวนการทางร่างกาย และไม่ได้ทำให้ผู้หญิงไม่บริสุทธิ์หรือแปดเปื้อน ” Radha Paudel นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีกล่าว
“ ต้องทำให้พวกเขาเข้าใจว่าการมีประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่เช่นนั้น ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ” เธอกล่าวกับมูลนิธิธอมสันรอยเตอร์
ในหลายชุมชน สตรีและเด็กหญิงที่มีประจำเดือนถูกห้ามไม่ให้พบกับสมาชิกครอบครัว หรือออกนอกบ้าน ต้องกินอาหารอย่างจำกัด และถูกห้ามไม่ให้แตะต้องสิ่งของหลายอย่าง ทั้งนม รูปเคารพเทพเจ้าทางศาสนา และวัวควายที่เลี้ยงไว้
แต่มีสัญญาณว่าทัศนคติในเรื่องนี้กำลังเปลี่ยนไป โดยในสัปดาห์ที่แล้ว หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตะวันตกของเนปาลประกาศให้รางวัล 5,000 รูปี (1,340 บาท) แก่ผู้หญิงทุกคนที่ไม่ยอมถูกคุมขังอยู่ในกระท่อม เพื่อเป็นการยุติประเพณีที่ล้าสมัยนี้
“ นี่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่ฝังลึกทั้งธรรมเนียมปฏิบัติและพฤติกรรม และการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนั้นมีความสำคัญ แต่ผลการศึกษานี้ชี้ว่า มันต้องทำมากกว่านั้น ” ธอมสันระบุ