“พิชิต” ยกเลิกเมล์เอ็นจีวี
“ ขสมก. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และเชื่อว่า ขสมก.จะไม่ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน เพราะทุกอย่างต้องทำตามสัญญาที่ตกลงกันไว้กับ บริษัท เบสริน กรุ๊ป ” นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม กล่าวและยืนยันว่า
“ ในวันนี้ 7 ก.พ.นี้ หากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยังไม่สามารถรับรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) จากบริษัท เบสท์รินฯ ก็จะสั่งให้ ขสมก.บอกยกเลิกสัญญา เพื่อให้กระบวนการทำงานของ ขสมก.เป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกับบริษัท เบสท์รินฯ ”
โดยเนื้อหาของสัญญาระบุว่า หากไม่สามารถส่งมอบรถเมล์โดยบริษัทเบสท์รินฯ ในฐานะคู่สัญญาได้จ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงิน 10% ของมูลค่าโครงการแล้ว ก็ยังไม่สามารถส่งมอบรถเมล์ให้ได้ ขสมก.สามารถบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งในวันที่ 7 ก.พ.นี้ จำนวนเงินค่าปรับจะมีมูลค่าครบ 10% ของมูลค่าโครงการแล้ว
“ เรื่องของรถเมล์เอ็นจีวี ที่ถกเถียงกันอยู่เวลานี้คือ ผู้นำเข้า ก็คือ บริษัท ซูปเปอร์ซาร่า ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท เบสรินฯ ระบุว่า รถเมล์ที่นำเข้าไทยประกอบที่มาเลเซีย แต่กรมศุลกากรไทยระบุว่า รถเมล์ทั้งหมดผลิตและประกอบที่จีน ซึ่งล่าสุด ขสมก.ได้ส่งจดหมายถึงกรมศุลกากรเพื่อขอข้อมูลที่ชัดเจนว่า รถเมล์ดังกล่าวประกอบที่มาเลเซียจริงหรือไม่ โดยกรมศุลกากรชี้แจงว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอหนังสือชี้แจ้งจากทางการมาเลเซียว่า รถเมล์ประกอบที่มาเลเซียจริงหรือไม่ ซึ่งคาดว่า สัปดาห์หน้าหนังสือตอบจากมาเลเซียก็คงยังมาไม่ถึง และกรมศุลกากรไทยก็คงไม่มีอะไรชี้แจงเพิ่มเติม ”
นายพิชิต กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาในขณะนี้คือ ในเนื้อหาของสัญญาที่ตกลงกันระหว่าง ขสมก.กับบริษัท เบสรินฯ กำหนดว่า รถเมล์เอ็นจีวีต้องผลิตในจีนและประกอบที่มาเลเซีย แต่กรณีที่กรมศุลกากรสั่งอายัดไม่ให้นำรถเมล์ออกจากท่าเรือ เนื่องจากรถเมล์ผลิตและประกอบการที่ประเทศจีนและรถเมล์จำนวน 99 คันล็อตแรกมีการใช้ฟอร์มดี เพื่อลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 0% จากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า ถือเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีเพราะรถเมล์ผลิตและประกอบที่จีน
นายพิชิต กล่าวว่า หาก ขสมก.ประกาศยกเลิกสัญญากับบริษัท เบสรินฯ กระทรวงคมนาคมก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทบทวนมติ ครม.เดิมในการอนุมัติซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันใหม่ โดยกระทรวงคมนาคมก็จะเสนอให้ซื้อรถเมล์เอ็นจีวี รถเมล์ไฟฟ้า หรือรถเมล์ไฮบริดก็ได้ โดยเฉพาะรถเมล์ไฮบริดนั้น มีแรงขับเคลื่อนที่ดีกว่ารถเมล์ไฟฟ้า.
ทั้งนี้ กรณีปัญหาของรถเมล์เอ็นจีวี สืบเนื่องมาจากกรมศุลกากรได้สั่งอายัดรถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 99 คัน ซึ่งเป็นรถเมล์ล็อตแรกจากจำนวนทั้งหมด 489 คัน โดยระบุว่า รถเมล์ 99 คันผลิตจากจีนและใช้ฟอร์มดี เพื่อลดอัตราภาษีเหลือ 0% ตามสิทธิ์ของอาฟต้า แต่กรมศุลกากรไทยระบุว่า รถเมล์ทั้ง 99 คันผลิตและประกอบที่จีน เช่นเดียวกับรถที่เหลืออีก 390 คัน.